“กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว” นำโดยเชาวพล เจริญสุข และพิพูเอก สกุลหลิม รวมพลังกันไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเสนอต่อการออกประกาศอาชีพห้ามคนต่างด้าวทำตาม พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าว

ตามที่พระราชกำหนดการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 7 ให้มีการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ทั้งในลักษณะการห้ามแบบเด็ดขาด หรือห้ามโดยมีเงื่อนไข

ทั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงานมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดทํากฎหมายลำดับรองในประเด็นดังกล่าว โดยได้มีการพิจารณาในเรื่องอาชีพพนักงาน หรือลูกจ้างงานขายของหน้าร้าน ร้านอาหาร และร้านทำความสะอาดและตกแต่งเล็บ เป็นลักษณะงานที่ขาดแคลนแรงงานไทยในกิจการ

ปัญหามีว่า...ผลกระทบสำคัญของผู้ประกอบการกิจการดังกล่าวคือ ไม่สามารถหาคนไทยเข้ามาทำงานในลักษณะดังกล่าวได้ตามความจำเป็นในการจ้าง

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขคนว่างงานที่ผ่านมาทุกไตรมาสก็พอจะเห็นเค้าลางความเป็นจริงบางอย่าง

ยกตัวอย่างเดือนเมษา 2561 มีจำนวน 4.05 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.33 แสนคน และเคยทำงานมาก่อน 1.72 แสนคน ...ประสบการณ์ของผู้ว่างงานส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและการค้า 8.71 หมื่นคน ภาคการผลิต 7.30 หมื่นคน ภาคเกษตรกรรม 1.19 หมื่นคน

ถ้าจำแนกประเภทลงมาจะพบว่า ระดับการศึกษาของผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.62 แสนคน ระดับมัธยมต้น 7.7 หมื่นคน ระดับมัธยมปลาย 7.6 หมื่นคน ระดับประถม 7.5 หมื่นคน

ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.5 หมื่นคน

ถึงตรงนี้หากดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่จบอุดมศึกษา 1.62 แสนคนจะไม่ทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่สำเร็จมาแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ...จำนวนผู้ว่างงานที่จะมีแนวโน้มทำงานในตำแหน่งต่างๆของทุกธุรกิจร้านขายของและร้านอาหารที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จะมีเพียงแค่ 2.43 แสนคน

...

นั่นก็คือ...กลุ่มผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษามัธยมต้น มัธยมปลาย ประถมศึกษา ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาตามลำดับ

น่าสนใจอีกว่าจำนวนผู้ว่างงาน 2.43 แสนคน มีโอกาสที่จำนวนจะลดลงอีกเนื่องจากผันตัวเองไปขายของตามตลาดนัด ตลาดสด แผงลอย ขายของออนไลน์ ประกอบกิจการขนาดเล็กอื่นๆ

และถึงแม้ว่าจำนวนผู้ว่างงาน 2.43 แสนคนทั้งหมดจะเข้ามาทำงานในร้านขายของและร้านอาหารที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทว่า...จำนวนผู้ว่างงานก็ไม่เพียงพอกับร้านขายของ ร้านอาหาร งานที่ให้บริการต่างๆทั่วประเทศ

โดยสภาพการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็ก รายย่อยทั่วประเทศ มีความ “ต้องการ” และ “จำเป็น” ต้องใช้แรงงานในตำแหน่งพนักงานขายของหน้าร้านในกิจการค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านทำความสะอาดมือ เท้า เล็บ...ตัด...แต่ง...ทาสี

น่าสนใจว่า ถึงแม้จะมีประกาศรับสมัคร “คนไทย” แล้วก็ตาม ก็ไม่มีคนไทยมาสมัครงานแต่อย่างใด บางร้าน บางพื้นที่ ติดประกาศเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ก็ยังไม่มีคนมาสมัคร

ต้องยอมรับความจริงอีกว่า...ปัญหาหนักหนาที่พบ เมื่อได้คนไทยมาทำงาน ก็จะอยู่ไม่นาน ผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายตาม พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าวกำหนด แต่ก็ยังผิดในลักษณะการทำงานแค่กรรมกร กับรับใช้ในบ้านเรื่อยมา

ตรงนี้เอง...ที่เป็นช่องทางให้ผู้แอบอ้างตัวเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ใช้หากิน อาศัยการทำผิดในลักษณะเล็กน้อย เรียกรับผลประโยชน์ ทั้งที่ผู้ประกอบการเป็นคนไทย และลูกจ้างดังกล่าว เป็นลูกจ้างของนายจ้าง ตามลักษณะการจ้างงานแรงงาน 3 สัญชาติที่ถูกต้องตามที่ พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าวได้กำหนด

สำหรับในเรื่องการทำบัตรขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และการนำเข้าแบบ MOU ผู้ประกอบการไม่ได้ขัดข้องในการที่ พ.ร.ก.นี้ จะกำหนดให้การอาชีพดังกล่าวในลักษณะผู้ประกอบการ หรือการดำเนินการกิจการส่วนตัวจะสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น แต่ลักษณะการทำงานที่เป็นลูกจ้างหรือใช้แรงงานในลักษณะนี้ควรเปิดช่อง

เสียงจากตัวแทน “กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว” ย้ำว่า อาชีพขายสินค้า...อาหาร หน้าร้านควรกำหนดให้สามารถรับเงินทอนเงินได้ เพื่อส่งให้นายจ้าง อาชีพ...ทำความสะอาดมือ เท้า เล็บ ตัดเติม แคะ ควรให้ทาสีได้ง่ายๆ เพราะเป็นงานกรรมกรเหมือนกับก่อสร้าง มิได้ใช้ทักษะสูง

“ผู้ประกอบการหวังให้มีการตีความในลักษณะงานนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการจ้างจริง และอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในลักษณะดังกล่าวได้อย่างมีเงื่อนไขตามที่มีการจ้างอยู่อย่างแท้จริงในปัจจุบัน...เพื่อขจัดปัญหาการเรียกรับส่วยจากผู้แอบอ้าง”

เงื่อนปมปัญหาสำคัญที่ผ่านมาจนถึงวันนี้...“ผู้ประกอบการ” และ “แรงงาน” ยังคงวิตก ในเรื่องการ “ตีความ” ลักษณะงานที่เป็นช่องว่างอยู่ และยังขาดรายละเอียดในลักษณะงานดังกล่าวข้างต้น

ถึงตรงนี้กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว มีข้อเสนอและข้อคิดเห็นต่อทางกรมการจัดหางานและคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

พิจารณาประกาศให้...งานขายของหน้าร้าน กิจการร้านขายของ ร้านอาหาร งานลูกจ้างพนักงานในกิจการทำความสะอาดมือ-เท้า ตกแต่ง ตัดต่อ ทาสีให้กับเล็บ มือ เท้า

...เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำงาน โดยมีเงื่อนไขให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวทำในงานที่ขาดแคลน เพื่อให้นายจ้างสามารถดำเนินธุรกิจได้และธุรกิจอยู่รอด

...

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

อีกทั้งยังช่วยปิดกั้นการเรียกรับ “ผลประโยชน์” หรือ “ส่วย” จากกลุ่มคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเรียกผลประโยชน์รายเดือนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์

แนวทางการพิจารณาประกาศให้งานดังกล่าวข้างต้นเป็นงานที่ ห้ามคนต่างด้าวทำงาน โดยมีเงื่อนไขที่จะอนุญาตให้จ้างได้ดังนี้ หนึ่ง...นายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่างด้าวทําในกิจการได้ในฐานะของผู้ใช้แรงงาน หมายความว่าเป็น “พนักงาน” หรือ “ลูกจ้าง”

สอง...ในประเภทงานนี้ต้องมีคนไทยในกิจกรรมอย่างน้อย 1 คน และ สาม...งานบริการต้องจดทะเบียนภาษีและขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้กับลูกจ้าง สี่...ให้จ้างแรงงานต่างด้าวได้เฉพาะ 4 สัญชาติที่เข้ามาทำงานโดยข้อตกลงการจ้างแรงงาน (MOU) หรือได้รับอนุญาตให้ทำงานตามนโยบายเฉพาะของรัฐบาลเท่านั้น เช่น กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ ห้า...ห้ามแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการเองโดยเด็ดขาด

ทั้งหมดนี้คือ ที่มาที่ไปต้นตอปัญหา การพิจารณา...ดำเนินการแก้ไขจึงต้องอยู่บนฐานของความจริง ไม่อย่างนั้นแก้ยังไงปัญหาก็ยังคงอยู่ สำคัญที่สุด...รัฐ! ต้องเกาให้ถูกที่คัน.