23 พฤษภาคม 2561 จับตาการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะ “แบน” หรือ “ไม่แบน”...สารพิษร้ายแรง วันชี้ชะตาที่ “คนไทย” จะได้รู้กันว่า “รัฐบาล คสช.” จะเลือกข้างไหน ...ผลประโยชน์บรรษัท หรือ...จะปกป้องสุขภาพประชาชน?

หนึ่ง...เหตุผลการเสนอไม่แบน? ใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย โดยไม่ใช้ข้อมูลใหม่ที่ระบุว่า “พาราควอต” มีพิษเฉียบพลันสูง ร้ายแรงกว่าสารพิษที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว 3-42 เท่าหรือไม่?

อ้างข้อมูลเก่าว่า “พาราควอต” ไม่ก่อโรคพาร์กินสัน ขัดแย้งกับงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และงานวิจัยล่าสุดทั่วโลกส่วนใหญ่ที่ยืนยันความสัมพันธ์ของพาราควอตกับโรคพาร์กินสันหรือไม่?...มีการอ้างข้อมูลหน่วยงานราชการที่เดินหน้าต่อทะเบียนว่าไม่พบการตกค้าง ขัดแย้งกับผลการวิจัยของสถาบันการศึกษาที่เป็นอิสระของมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนเรศวรหรือไม่?

ถัดมา...กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน? กรรมการวัตถุอันตราย 3 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจะร่วมอยู่ในการตัดสินใจไม่แบนพารา-ควอต คลอร์ไพริฟอส และไม่จำกัดการใช้ไกลโฟเสตหรือไม่?

ประเด็นสุดท้าย...ผลการลงมติไม่แบน หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนสารพิษตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า รัฐบาล คสช.เล่นละครตบตาประชาชน เลือกยืนอยู่ข้างบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการ?...#BIOTHAI 13/5/2561

“อาหารปลอดภัย” ประเด็นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย คำว่าอาหารปลอดภัยไม่ใช่เพียงแต่ดูที่จะกินชนิดของอาหารอะไรได้บ้าง...ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของหวาน แป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ทำให้อ้วนและสุ่มเสี่ยงต่อโรคที่ตามมาอีกหลายชนิด...ทั้งอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง แต่ยังหมายรวมถึงเรื่องความสะอาด ซึ่งไม่ใช่มุ่งประเด็นแต่เรื่องการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค...

...

แต่ยังมุ่งถึงการปลอดจาก “สารเคมี” ที่ใช้ในการยืดอายุของอาหาร กันเสีย กันบูด กันการเหม็นหืน ซึ่งมีผลในระยะยาวทำให้เกิดโรคของอวัยวะต่างๆ มะเร็ง และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไปทำลายวิตามินบีจนกระทั่งทำให้เกิดมีโรคทางเส้นประสาทชา อ่อนแรง หรือมีหัวใจวาย และยังหมายรวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรกรรม เรือกสวน ไร่นา พืชผักผลไม้ สารฆ่าวัชพืชหรือสารทำลายศัตรูพืชต่างๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ย้ำว่า สารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเสต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)...มีข้อเท็จจริงทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัด

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “พาราควอต” ที่มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม แม้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนัง

รวมทั้งบาดแผล แล้วซึมเข้าร่างกาย จนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังพบตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ จากข้อมูลการวิจัยของหลายสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สมควรยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต ตัดตอนมาจากเวทีเสวนาวิชาการที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา....ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย

รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บอกว่า การจัดความเป็นพิษเฉียบพลันขององค์การอนามัยโลกโดยใช้หนูทดลองเป็นเกณฑ์ ได้จัดพาราควอตให้เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันปานกลาง แต่มีคำอธิบายเพิ่มเติมระบุไว้ว่า “หากดูดซึมเข้าร่างกาย พาราควอตจะส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรง แม้จะมีอันตรายน้อยหากใช้ตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง แต่สามารถส่งผลกระทบถึงชีวิตหากพาราควอตเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายทางปาก หรือสัมผัสผิวหนัง”

ประกอบกับมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศศรีลังกาของ Andrew H. Dawson และคณะ (2010) พบผู้ป่วยที่ได้รับสารพาราควอต มีอัตราการตาย 42.7% ....สูงกว่าสารพิษกลุ่มเฉียบพลันสูง (กลุ่ม 1b) โดยมีอัตราการตายมากกว่าเมโทมิล 3 เท่า และมากกว่าคาร์โบฟูราน 42 เท่า

เช่นเดียวกับข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 พบอัตราการตายของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ได้รับพารา–ควอตสูงถึง 46.18% คิดเป็น 10.2%...กรณีที่ผู้ป่วยสัมผัสทางผิวหนัง 14.5% ...กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจ และ 8.2%...กรณีที่เกิดจากการประกอบอาชีพ

จากหลักฐานนี้จัดได้ว่า “พาราควอต” เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ไม่มียาถอนพิษ อีกทั้งงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เองก็ยืนยันผลกระทบต่อสุขภาพจากสารทั้ง 3 ชนิดเช่นกัน โดยพาราควอตสามารถเข้าสมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ ทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวและเซลล์ประสาทตาย

ในขณะที่คลอร์ไพริฟอสสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ H508 และไกลโฟเสต สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในปริมาณที่ต่ำมากและเป็นช่วงที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมซึ่งสารไกลโฟเสตระดับต่ำทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มจำนวน 5-13 เท่า

...

ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หยิบยกผลงานการศึกษาจากศูนย์ CWEND ก่อตั้งจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์โลเวลล์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการวิจัยเดียวภายใต้โปรแกรม GEOHealth ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIH และ CDC ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า พาราควอตเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง

“การฉีดพ่นด้วยอุปกรณ์สะพายหลังโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ใช้อยู่ไม่สามารถป้องกันการรับสัมผัสพาราควอตจากการฉีดพ่นได้ ทำให้เกษตรกรได้รับสารพาราควอตเข้าร่างกายในระดับที่อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ พาราควอตและไกลโฟเสตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์”

โดยพบการตกค้างของพาราควอตในซีรัมทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17–20% พบไกลโฟเสต ระหว่าง 49–54% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตและไกลโฟเสตมากกว่าคนทั่วไป 1.3 และ 12 เท่าตามลำดับ

และ...หากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่า

น่าสนใจว่า...ยังตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึง 54.7% จากมารดา 53 คน

ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญข้างต้นนี้ กราบเรียนไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โปรดเพิกถอนการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด...พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส เพื่อลูกๆหลานๆ “คนไทย” ด้วยเถิด.