เลิกกลัวกันได้แล้วว่า มนุษย์จะตกงาน เพราะถูกหุ่นยนต์แย่งงานไปทำ ถึงแม้ความไฮเทคของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเก่าๆ ทำให้คนโลว์เทคถูกทิ้งล้าหลังและมีคนตกงานเป็นเบือ เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ “โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อินส์” วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ชี้แนะว่า คนที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ยังไงก็สามารถอยู่รอดได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันแสนเจ็บปวดจากรอยต่อของการส่งผ่านจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 ความทันสมัยของเทคโนโลยีก็เคยเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยน แปลงโลกจากยุคเกษตรกรรม เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ตอนนั้นเกษตรกรหลายล้านคนต้องตกงานไร้อาชีพทำกิน เพื่อแลกกับความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ ในสายตาของโกลด์แมน แซคส์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่แตกต่างกันนัก เพราะโลกกำลังจะสิ้นยุคอุตสาหกรรม เปลี่ยนไปสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเต็มตัว

ทางเลือกที่จะอยู่รอดในยุคส่งผ่านเช่นนี้ คือการจัดระเบียบตลาดการจ้างงานให้สอดคล้องกับความต้องการแท้จริง โดยโกลด์แมน แซคส์ มั่นใจว่า นี่คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายอุปสรรคและลดความเสี่ยงในการส่งผ่านจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างมาตรการรองรับระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ “ฟรีแลนซ์ อีโคโนมี” ที่เป็นผลพวงเต็มๆมาจากการเบ่งบานของยุคดิจิตอล
และจะกลายเป็นกระแสหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคหน้า

โกลด์แมน แซคส์ อธิบายว่า ปัจจุบันแลนด์สเคปโครงสร้างของการ จ้างงานทั้งโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว ทำให้ “ฟรีแลนซ์” ซึ่งเป็นอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ผูกมัดตัวเองกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทใดๆ กำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ จนสื่อระดับโลกหลายแห่งวิเคราะห์ตรงกันว่า แรงงานลักษณะนี้จะเป็นรูปแบบหลักของการทำงานในอนาคตและส่งผลต่อตลาดแรงงานโลกในวันข้างหน้าอย่างมาก

...

ในขณะที่ “ฟรีแลนซ์” กำลังจะก้าวเป็นแรงงานสำคัญของประเทศ โกลด์แมน แซคส์ นำเสนอว่า รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการจัด ระเบียบอาชีพฟรีแลนซ์ และลูกจ้างชั่วคราว เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคง และสวัสดิการสังคม จากปัจจุบันที่ยังถูกมองเป็นคนนอกระบบ

จากการรายงานของกระทรวงแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัจจุบันในอเมริกามีคนทำงานอาชีพ “ฟรีแลนซ์” มากกว่า 15.5 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2020 จะมีคนหันมาทำงานรับจ้างอิสระ ในรูปแบบของฟรีแลนซ์ และลูกจ้างชั่วคราว เพิ่มขึ้นถึง 40% คิดเป็นจำนวน 60 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนการจ้างงานในตลาด

ก็ด้วยกระแสมาแรงของอาชีพฟรีแลนซ์ ทำให้เกิดนิยามใหม่จากฮาร์วาร์ด บิสเนส รีวิว ที่เรียกขานปรากฏการณ์นี้ว่า “The Rise of the Supertemp” ถึงยุคของมือปืนรับจ้างอิสระ ฟรีแลนซ์ยุคนี้ไม่ใช่แค่คนตัวเล็กๆมีความสามารถเฉพาะทาง เช่น นักเขียน, นักออกแบบ, นักพัฒนาโปรแกรม, นักวาดภาพ หรือนักแสดง แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงและมืออาชีพเก่งๆในสายงานเคี่ยวๆ อย่างเช่น การเงินการธนาคาร, กฎหมาย, ที่ปรึกษาธุรกิจ, นักบัญชี ก็ยังเลือกรับงานแบบอิสระไม่สังกัดหน่วยงานใด

ถือเป็นเทรนด์ใหม่ต้องจับตามองอย่ากะพริบ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่ากลัวจะเป็น “ฟรีแลนซ์” ถ้าเก่งและขยันซะอย่าง ประกาศความเป็นไทซะ!! มันหมดยุคติดแหง็กอยู่ในออฟฟิศตั้งแต่เช้ายันเย็นแล้ว.

คุณนิติ นวรัตน์
songlok@outlook.co.th  
www.nitipoom.media  
www.facebook.com/nitipoom.thailand