ผมเขียนลงคอลัมน์นี้วันเสาร์ที่แล้ว เรียกร้องให้ “โลกโดดเดี่ยวสหรัฐฯ” เพื่อสั่งสอนความอหังการของ “ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐฯที่มองประเทศอื่นเหมือน “ข้าทาสอเมริกัน” ขึ้นภาษีรังแกชาติเล็กชาติน้อยอย่างไร้เหตุผล วันนี้ผมได้ “เพื่อน” ที่ “คิดเหมือนกัน” แล้วครับ เธอคือ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับ โจนาส กาห์ร์ สเตอรอ นายกฯนอร์เวย์ เมื่อ 7 เม.ย. ณ กรุงบรัสเซลส์ เรียกร้องให้ 83% ของการค้าทั่วโลกที่อยู่นอกกำแพงสหรัฐฯ ร่วมมือค้าขายโดยไม่ต้องมีสหรัฐฯ โดยบอกว่า อียูกำลังทำงานร่วมกับ ไทย อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ
แถลงการณ์ระบุว่า ภาษี (โหดของทรัมป์) เหล่านี้ สร้างต้นทุนมหาศาลแก่ผู้บริโภคและธุรกิจของสหรัฐฯเอง ในเวลาเดียวกันก็ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
อียูพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เราได้เสนอข้อตกลงภาษีศูนย์ต่อศูนย์ (zero–for–zero tariffs) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับที่เราได้ประสบความสำเร็จกับพันธมิตรการค้าอื่นๆ หลายราย ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการตอบสนอง และปกป้องผลประโยชน์ของเรา นอกจากนี้ เรายังจะปกป้องผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นผ่าน “การเบี่ยงเส้นทางการค้า” (trade diversion) เราจึงจัดตั้ง คณะทำงานติดตามการนำเข้า (Import surveillance task force) ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมทั่วสหภาพยุโรป เพื่อให้มาตรการต่างๆของเราไม่ส่งผลกระทบต่อกัน
แถลงการณ์ระบุอีกว่า เรากำลังหารือถึงแนวทางตอบโต้สหรัฐฯ รวมถึงสองเสาหลักของยุทธศาสตร์ของเรา คือ การเสริมสร้างตลาดภายใน (Single Market) ด้วยการขจัดอุปสรรคที่ยังหลงเหลือ และ การกระจายความหลากหลายของความสัมพันธ์ทางการค้า (Trade Diversification) เพื่อเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆที่มีความสำคัญ
...
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า เราจะมุ่งเป้าไปที่ 83% ของการค้าทั่วโลกที่อยู่นอกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโอกาสมหาศาล นี่คือเหตุผลที่เรากำลังกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการค้าของเรา เรากำลังลงนามในข้อตกลงกับ กลุ่ม Mercosur (กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอเมริกาใต้ ที่มีบราซิลเป็นพี่เบิ้ม) เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ และเรากำลังทำงานร่วมกับ อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ (ล่าสุดคือจีน) เราต้องการส่งสารอย่างชัดเจนว่า ยุโรปจะยืนหยัดร่วมกับเพื่อนธุรกิจของเรา (ไม่หักหลังเพื่อนอย่างสหรัฐฯ) และเคียงข้างกับธุรกิจเหล่านั้นทั้งในอียูและทั่วโลก
แปลความก็คือ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ชวนทุกประเทศทั่วโลกนอกกำแพงสหรัฐฯ 83% จับมือร่วมกัน “หันหลังให้กับสหรัฐฯ” เพื่อ “โดดเดี่ยวสหรัฐฯ” ดับความอหังการของทรัมป์
วันอังคารที่ 8 เม.ย. ขณะที่ ทรัมป์ขีดเส้นตายให้จีนเลิก ภาษีตอบโต้สหรัฐฯ 34% ก่อน 9 เม.ย. มิฉะนั้นสหรัฐฯจะขึ้นภาษี ตอบโต้จีนเป็น 104% จากที่ขึ้นไปแล้ว 54% หลี่ เฉียง นายกฯจีน ได้โทรศัพท์คุยกับ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยแสดงความมั่นใจว่า เศรษฐกิจจีนสามารถรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอกได้เต็มที่ รัฐบาลจีนมีเครื่องมือด้านนโยบายเพียงพอ ที่จะบรรเทาผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จีนจะยังเติบโตได้ดีในปี 2568 (5% ตามเป้า) และประณามมาตรการของสหรัฐฯ ว่า เป็นตัวอย่างของการกีดกันทางการค้าและบีบบังคับทางเศรษฐกิจ
วันนี้ทั่วโลกมี “ศัตรูร่วม” คนเดียวคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ถ้า ยุโรป อาเซียน จีน อินเดีย รัสเซีย อเมริกาใต้ ร่วมกันตอบโต้สหรัฐฯ จะมีประชากรรวมกันมากกว่า 4,000 ล้านคน มีกำลังบริโภคมหาศาล มีจีดีพีรวมกันมากกว่าสหรัฐฯหลายเท่า ทำไมสู้สหรัฐฯไม่ได้
ผมสนับสนุนนโยบายของ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปครับ อยากให้ทุกประเทศร่วมกันสั่งสอนทรัมป์ เลิกซื้อสินค้าสหรัฐฯ เลิกส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯ แล้วจะดูน้ำหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าสหรัฐฯจะอยู่คนเดียวในโลกได้หรือไม่.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม