เมื่อ 5–7 พ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย–เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย–แม่น้ำรวก (JCR) ครั้งที่ 3 โดยมีนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนายอ่อง จอ อู อธิบดีกรมการกงสุลและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเป็นประธานร่วมกัน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งสองประเทศเข้าร่วม

สำหรับการประชุม JCR เป็นความร่วมมือจัดการบริหารพื้นที่ที่สืบเนื่องมาจากการที่ไทยและเมียนมาสามารถปักปันเขตแดนในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (แม่น้ำเขตแดนไทย-เมียนมาระยะทาง 59 กิโลเมตร ไหลเข้าไทยที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย) ซึ่งต้องมีการเข้าไปตรวจสอบดูแลว่าหลักอ้างอิงเขตแดนนี้ยังอยู่ในสภาพที่สามารถใช้ได้อยู่หรือไม่

ในปีนี้ภาคเหนือของไทยเผชิญกับอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายและความสูญเสียให้แก่ประชาชนมากมาย รวมทั้ง น้ำท่วมยังทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยน อาจส่งผลให้หลักอ้างอิงเขตแดนในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่พักอาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนที่เคยตั้งอยู่ในอาณาเขตของแต่ละประเทศ อาจกลายเป็นว่ากำลังรุกล้ำเขตแดนของชาติใดชาติหนึ่ง นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ล้ำเข้าไปในเขตแม่น้ำก็ยังทำให้ตัวลำน้ำแคบลง กีดขวางการไหลของน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจึงเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและเขตแดนไม่ให้ลุกลามบานปลาย โดยได้วิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ การขุดลอกบนแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกเพื่อขยายช่องทางการไหลของน้ำ พร้อมตั้งโต๊ะหารือคณะอนุกรรมการระหว่างเมียนมากับไทย นำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในเดือน ธ.ค.ปีนี้ เพื่อวางแผนสำรวจและขุดลอกร่องน้ำ ดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างเป็นธรรมและสิทธิในการเดินเรือ อย่างไรก็ตาม การป้องกันและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอาจต้องพิจารณาถึงการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางไหลของน้ำในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายเมียนมาน่าจะสามารถดำเนินการส่วนนี้ได้เร็วกว่าฝ่ายไทย

...

ทั้งนี้ นางสุพรรณวษามองว่า “เรื่องเขตแดนไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยก แต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้” ดังเช่นชายแดนไทย-ลาว แม้ยังมีปัญหาบางจุดแต่ก็สามารถปักหลักเขตแดนของ ภูชี้ฟ้า ได้ ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือหลายมิติอย่างเศรษฐกิจและการค้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไทยภาคภูมิใจ.

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม