• หลังจากเกาหลีเหนือส่งบอลลูนบรรทุกถุงพลาสติกใส่ขยะและสิ่งปฏิกูลมากกว่า 2,000 ลูกข้ามชายแดนเข้ามาตกในเกาหลีใต้ ล่าสุดสภาความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้ ประกาศเตรียมระงับข้อตกลงทางทหารที่ครอบคลุมระหว่างสองประเทศเกาหลีที่ร่วมลงนามเมื่อปี 2561 แล้ว
  • ด้านเกาหลีเหนือได้ยกเลิกการปล่อยบอลลูนขยะโจมตีอีกระลอกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. โดยระบุว่า การปล่อยบอลลูนขยะ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่เตือนว่าอาจมีการโจมตีในลักษณะนี้อีกในอนาคต

 

รัฐบาลเกาหลีใต้เตือนเกาหลีเหนือ เตรียมระงับข้อตกลงทางทหาร เพื่อตอบโต้ต่อการยั่วยุต่างๆ ทั้งความพยายามในการส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ประสบความล้มเหลวและระเบิดขึ้นกลางอากาศหลังจากปล่อยขึ้นจากฐานเพียงไม่นาน และนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังมีการรบกวนสัญญาณ GPS ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลีเป็นวงกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อการสัญจรทางอากาศและทางเรือของพลเรือน นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อีก 10 ลูก และยิงกระสุนจากเครื่องยิงจรวดอีก 18 เครื่องลงสู่ทะเลญี่ปุ่นอีกด้วย จนกระทั่งล่าสุดที่เกาหลีเหนือได้ส่งบอลลูนขยะและสิ่งปฏิกูลกว่า 2,000 ลูกเข้ามายังพรมแดนของเกาหลีใต้ จนทำให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง โดยทางการเกาหลีใต้ยืนยันว่าพบบอลลูนขยะราว 700 ลูกที่มาตกในเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะสร้างความเสียหายเล็กน้อย แต่ก็เป็นการแพร่สิ่งสกปรกกระจายไปทั่ว

...

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีใต้ระงับข้อตกลงทางทหารต่อเกาหลีเหนือ โดยเมื่อปี 2566 เกาหลีใต้ระงับข้อตกลงทางทหารบางส่วนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร แต่พฤติกรรมยั่วยุจากการส่งบอลลูนขยะล่าสุดทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้เตรียมส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้ระงับข้อตกลงทั้งหมดจนกว่าความไว้วางใจซึ่งกันและกันจะฟื้นคืนกลับมา

สภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้อ้างว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ยังเหลืออยู่ทำให้เกาหลีใต้เสียเปรียบในแง่ของการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และการระงับข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้เกาหลีใต้สามารถฝึกกำลังทหารในพื้นที่รอบๆ แนวแบ่งเขตทางทหาร รวมทั้งตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนือได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายชู คยุง โฮ หนึ่งในสมาชิกอาวุโสสภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่านายคิม จอง อึน จะต้องชดใช้ ต่อการกระทำที่ยั่วยุ และเกาหลีใต้ต้องการคำขอโทษจากเปียงยางในทันที

เกาหลีใต้อาจจะกลับมาออกอากาศโฆษณาชวนเชื่ออีกครั้ง

รัฐบาลกรุงโซลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจจะมีการออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อผ่านลำโพงในเขตปลอดทหาร ไปยังเกาหลีเหนืออีกครั้ง หลังจากที่ตัดสินใจยุติการออกอากาศไปเมื่อปี 2018 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย เพราะถือว่าเป็นการเปิดฉากทำสงครามจิตวิทยา โดยในอดีตเกาหลีเหนือเคยขู่ว่าจะยิงปืนใหญ่โจมตีไปยังจุดกระจายเสียงดังกล่าวด้วย ซึ่งท่าทีดังกล่าวก็ดูเหมือนจะได้ผล เพราะเกาหลีเหนือรีบออกมาตอบกลับว่า พวกเขาจะเลิกส่งบอลลูนสิ่งปฏิกูลมายังเกาลีใต้ หากเกาหลีใต้ยกเลิกการกระจายเสียง ซึ่งก็ทำให้ดูว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงได้ แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ก็ตาม

เกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย

เป็นที่ทราบดีว่า ปัจจุบัน คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือกำลังเดินหน้าพัฒนาอาวุธเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และยังช่วยส่งอาวุธให้แก่พันธมิตรอย่างรัสเซียด้วย โดยในช่วงที่สงครามยูเครนกับรัสเซียยังเดินหน้าต่อ สหรัฐฯ ก็เคยเตือนไปยังรัสเซียให้ยุติการช่วยเกาหลีเหนือพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอาวุธ อย่างขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เพื่อแลกกับอาวุธจากเกาหลีเหนือ เพราะด้วยการสนับสนุนของรัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เปียงยางจึงดูมีความกล้ามากขึ้นแม้จะต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ โดยหลังจากนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามความพยายามที่ล้มเหลวของเกาหลีเหนือในการปล่อยจรวดที่บรรทุกดาวเทียมสอดแนมเมื่อวันอังคาร เกาหลีเหนือก็ตอบโต้กลับ โดยเรียกกูเตอร์เรสว่าเป็น "คนรับใช้" ของสหรัฐฯ

อันตรายจากความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

แดน พิงสตัน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยทรอย วิทยาเขตกรุงโซล ระบุว่า นอกจากจะได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากกรุงมอสโกแล้ว นายคิมยังดูเหมือนจะเบี่ยงเบนไปจากนโยบายของพ่อและปู่ของเขากับเกาหลีใต้ โดยนายพิงสตันมองว่า คิม จอง อึน อาจจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้ชนะสงครามนี้ให้ได้ หลังจากที่เห็นว่านโยบายเดิมๆ ไม่ได้นำไปสู่การครอบครองคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหนึ่งในทางเลือกก็คือการใช้กำลังทหารเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของทั้งจีน รัสเซีย อิหร่าน ที่ใช้กำลังทหารเปลี่ยนสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน การเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือใช้สันติเข้าแก้ไขข้อขัดแย้ง แต่จะใช้เพียงกองกำลังเป็นเครื่องมือสำคัญในนโยบายด้านต่างประเทศ

...

ซึ่งถึงแม้ว่าการยั่วยุของเกาหลีเหนือจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในคาบสมุทรเกาหลี แต่พิงสตันก็เตือนว่า เกาหลีใต้และพันธมิตรควรที่จะต้องระวังตัวเอาไว้ตลอดเวลา เพราะแม้การปล่อยบอลลูนขยะอาจจะดูเหมือนการเล่นเกม หรือการแกล้งเล่นๆ แต่อาจจะเป็นการวางกลยุทธ์อย่างหนึ่งของเกาหลีเหนือ เพราะการปล่อยบอลลูนเข้ามาอาจจะเป็นการทดสอบศักยภาพการต่อสู้ทางอากาศของเกาหลีใต้ เพื่อดูว่ากองทัพเกาหลีใต้จะตอบโต้ต่อภัยคุกคาม ได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อหาช่องโหว่ของเรดาห์ตรวจจับ และใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ก็เป็นได้.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : DW , AP

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รายงานพิเศษ