"Flightradar24" เผยข้อมูลการบินของเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่เผชิญสภาพอากาศแปรปรวน ระบุว่าการ "ดิ่งวูบ" 6,000 ฟุตนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เครื่องบินทำการลดเพดานบินด้วยออโตไพลอต

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ข้อมูลการบิน Flightradar24.com ระบุถึงกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 นำผู้โดยสาร 211 คนและลูกเรือ 18 คน ออกจากสนามบินในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปลายทางสนามบินชางงี ในสิงคโปร์ เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงระหว่างการเดินทาง เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายคน และทำให้กัปตันต้องนำเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในประเทศไทย เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 21 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น

โดยมีการเปิดเผยข้อมูลการบินที่ระบุว่า เครื่องบินเผชิญหลุมอากาศ สภาพอากาศแปรปรวนเมื่อเวลาประมาณ 14.49 น. จากนั้นประมาณ 15 นาทีต่อมา เครื่องบินได้ลดเพดานบินแบบ "ดิ่งวูบ" จากระดับ 37,000 ฟุต มาอยู่ที่ 31,000 ฟุต ในเวลา 15.06 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักบินได้ทำการลดเพดานบินตามมาตรฐานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autopilot) เพื่อลงจอดฉุกเฉิน 

โดย Flightradar ระบุว่า หลังจากประมวลผลข้อมูลความถี่สูง ADS-B สำหรับเที่ยวบิน SQ321 และจากการเชื่อมโยงเวลาตามการรายงานของสื่อต่างๆ ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์ตกหลุมอากาศ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 14.49 น. ซึ่งในการบินปกติแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงเพดานบินเล็กน้อยในแนวดิ่ง แต่เมื่อเวลาที่เที่ยวบิน SQ321 เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนนั้นพบว่ามีอัตราการลดเพดานบินแนวดิ่งที่เพิ่มขึ้น เป็นเวลาเกือบ 1 นาทีก่อนที่จะกลับไปเป็น 0 ฟุตต่อนาที

เว็บไซต์นี้ยังระบุว่า ก่อนหน้านี้สื่อบางสำนักมีการรายงานด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นการ "ดิ่งวูบ" 6,000 ฟุตจากการตกหลุมอากาศ แต่ที่จริงแล้วเป็นการลดเพดานบินตามมาตรฐานการเลือกเพดานบินด้วยระบบออโตไพลอตของเครื่องบิน  

...

ด้านเว็บไซต์ข่าวสเตรทไทมส์ รายงานว่า นายฉี ฮอง ทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ โพสต์บนเฟซบุ๊กว่าเจ้าหน้าที่ สำนักงานสอบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของสิงคโปร์ (Transport Safety Investigation Bureau (TSIB) ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในคืนวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า TSIB เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ที่รับผิดชอบในการสืบสวนอุบัติเหตุและเหตุการณ์ต่างๆ ทางอากาศ ทางทะเล และทางรถไฟ นอกเหนือจากเหตุการณ์เครื่องบินในสิงคโปร์แล้ว TSIB ยังสอบสวนเหตุการณ์ในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินที่จดทะเบียนในสิงคโปร์หรือเครื่องบินที่ดำเนินการโดยผู้ให้บริการในสิงคโปร์

พร้อมเสริมว่า เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ ของสหรัฐฯ จึงได้ส่งตัวแทนที่ได้รับการรับรองและที่ปรึกษาทางเทคนิค 4 คนมาร่วมสนับสนุนการสอบสวนในครั้งนี้ด้วย.