ในปี ค.ศ.1181 หรือ พ.ศ.1724 เกิดการระเบิดของซุปเปอร์โนวาที่หายาก ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน โดยมองเห็นได้เป็นเวลา 185 วันติดต่อกัน บันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าซุปเปอร์โนวาแห่งนั้นดูเหมือน “ดาวฤกษ์” ชั่วคราวในกลุ่มดาวแคสสิโอเปียหรือกลุ่มดาวค้างคาว ที่ส่องสว่างราวกับดาวเสาร์ นับตั้งแต่นั้นมานักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาซากของซุปเปอร์โนวาแห่งนี้ และตอนแรกคิดว่าอาจเป็นเนบิวลารอบพัลซาร์
ภาพที่ได้ล่าสุดเป็นการรวมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลายตัวเข้าด้วยกัน ทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเอกซเรย์ นิวตัน (XMM-Newton) ขององค์การอวกาศยุโรปที่แสดงขอบเขตทั้งหมดของเนบิวลาเห็นเป็นสีฟ้า กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา แสดงส่วนสีฟ้าอมเขียวที่ใจกลางเนบิลา กล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดมุมกว้างของนาซา แสดงให้เห็นส่วนที่เป็นสีแดงและสีชมพู ขณะที่โครงสร้างรัศมีในภาพประกอบด้วยกำมะถันร้อนที่เรืองแสงในแสงที่มองเห็นได้ ถูกสังเกตด้วยกล้องฮิลต์เนอร์ (Hiltner 2.4 m telescope) บนภาคพื้นดิน ในรัฐอริโซนา สหรัฐฯ ส่วนดวงดาวสีขาวในพื้นหลังเป็นฝีมือของกล้องแพน-สตาร์ร (Pan-STARRS) ในรัฐฮาวาย สหรัฐฯ
การศึกษาองค์ประกอบของส่วนต่างๆของซากนี้ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามันก่อตัวขึ้นจากการระเบิดอันรุนแรงมากและเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดพิเศษ.
(Credit : G. Ferrand and J. English (U. of Manitoba), NASA/Chandra/WISE, ESA/XMM, MDM/R.Fessen (Dartmouth College), Pan-STARRS)
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่