ทำผลงานให้ชมกันอีกครั้งสำหรับยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ สำรวจดาวอังคาร (Perseverance Mars) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือองค์การนาซา ล่าสุดจับภาพหินที่มีรูปทรงเป็นวงคล้ายโดนัท ในแอ่งเยเซโร (Jezero Crater) บนดาวอังคาร โดยจับภาพในระยะห่างราวๆ 100 เมตร ด้วยฝีมือของอุปกรณ์ Remote Microscopic Imager (RMI) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกล้องซุปเปอร์แคม (SuperCam)

อย่างไรก็ตาม หินก้อนนี้ไม่ได้เจอเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เครื่องมือ Mastcam-Z ของยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ จับภาพได้จากระยะที่ห่างออกไป 400 เมตรเมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ภาพใหม่ที่ได้มานี้ถูกบันทึกเมื่อ 22 มิ.ย.ตามเวลาบนดาวอังคาร ซึ่งเป็นวันที่ยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ อยู่บนดาวเพื่อนบ้านของเราถึง 832 วันแล้ว ทีมนักดาราศาสตร์เผยว่าไม่ว่าจะบนโลกหรือดาวอังคาร การที่หินมีรูปร่างแปลกประหลาดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก พวกมันมักจะก่อตัวขึ้นในช่วงหลายยุคหลายสมัย และเมื่อลมพัดกระทบกับหินทราย ก็เป็นไปได้ว่าหินก้อนนี้อาจก่อตัวขึ้นหลังจากหินก้อนเล็กกว่าหรือหินหลายก้อนถูกกัดเซาะตรงจุดศูนย์กลาง จนเหลือสภาพเป็นโพรงที่ต่อมาขยายวงขึ้นด้วยแรงลม

ทั้งนี้ ภารกิจของยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “มูน ทู มาร์ส” (Moon to Mars) ขององค์การนาซา ซึ่งรวมถึงภารกิจอาร์ทีมิส (Artemis) ที่จะส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์ในเร็วๆนี้ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการสำรวจดาวเคราะห์สีแดงหรือดาวอังคาร โดยมนุษย์ในอนาคต.

Credit : NASA/JPL-Caltech/ASU/MSSS/LANL/CNES/IRAP