หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ของสหรัฐฯ รายงานอ้างแหล่งข่าวทางการทูตของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่า รัฐบาลสหรัฐฯอยู่ระหว่างการร่างข้อเสนอเพื่อยื่นต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในเดือน ก.ย.นี้ ขอแก้ไขกฎบัตรสหประชาชาติในหัวข้อ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อปฏิรูปคณะมนตรีฯให้มีความครอบคลุมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯจำเป็นต้องผ่านการลงมติรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติด้วยเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 128 เสียง จากทั้งหมด 193 เสียง และได้รับการรับรองจากชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ 5 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส
สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอนั้น ทางรัฐบาลสหรัฐฯต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพิ่มจำนวนสมาชิกถาวร โดยปัจจุบันนี้ยูเอ็นเอสซีประกอบสมาชิกถาวร 5 ประเทศ และสมาชิกหมุนเวียนวาระ 2 ปี จำนวน 10 ประเทศที่มาจากการโหวตของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ แบ่งเป็น 5 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา จากภูมิภาคละตินอเมริกา 2 ประเทศ จากยุโรปตะวันตก 2 ประเทศ จากยุโรปตะวันออก 1 ประเทศ และจากที่อื่นๆอีก 1 ประเทศ
เบื้องต้นจำนวนสมาชิกถาวรถูกเสนอให้เพิ่มจาก 5 ประเทศ เป็น 11 ประเทศ โดย 6 ประเทศที่จะเพิ่มขึ้นมานั้นมีการหารือว่าประเทศตัวเต็งอาจจะเป็นเยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะที่รัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการบราซิลและประเทศจากภูมิภาคแอฟริกาอย่างน้อย 1 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สมาชิกถาวรที่ถูกเพิ่มขึ้นมา 6 ชาติ จะไม่มีอำนาจสิทธิขาดในการขัดขวางมติของคณะมนตรี หรือที่เรียกว่าสิทธิ “วีโต้” ซึ่งแหล่งข่าวนักการทูตตั้งคำถามด้วยว่า การปฏิรูปครั้งนี้อาจทำให้เสียงของชาติตะวันตกมีน้ำหนักน้อยลงหรือไม่
...
วันเดียวกัน นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ สนับสนุนให้สหประชาชาติจัดตั้งสำนักงานกำกับดูแลการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายในช่วงสิ้นปี 2566 หวังให้มีรูปแบบการทำงานคล้ายคลึงกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) คอยให้คำแนะนำในเรื่องการพัฒนาเอไอให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และผลประโยชน์ส่วนรวม หลังมองว่าสถานการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาน่าวิตกกังวล.