นาซาเผย มีดาวเคราะห์น้อยหลายดวงขนาดใหญ่เกือบเท่าเครื่องบินโดยสาร พุ่งเฉียดโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ 

4 มิ.ย. 2566 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่จะเฉียดโลกเราในสุดสัปดาห์นี้ ว่า มีดาวเคราะห์น้อยหนึ่งในสี่ดวงที่ชื่อว่า 2023 KS2 ได้โคจรผ่านโลกในวันศุกร์ที่ 2 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา อีกสามดวงที่เหลือ ซึ่งประกอบไปด้วย 2023 HO18, 2023 JR2 และ 2023 JE5 ถูกคาดการณ์กันว่าจะพุ่งเฉียดโลกในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์นี้

นาซารายงานว่า ดาวเคราะห์น้อย 2023 KS2 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ในขณะที่ดาวเคราะห์น้อยสามดวงที่เหลือ 2023 HO18, 2023 JR2 และ 2023 JE5 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ราว 30, 36 และ 33 เมตรตามลำดับ

นาซาคาดการณ์ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2023 KS2 พุ่งเฉียดโลกที่ระยะห่างราว 2,450,000 ไมล์ ในส่วนดาวเคราะห์น้อย 2023 JR2 จะพุ่งเฉียดโลกที่ระยะห่างประมาณ 4,050,000 ไมล์ และ 2023 JE5 จะพุ่งเฉียดโลกอยู่ที่ระยะห่างราว 4,190,000 ไมล์ รวมไปถึงดาวเคราะห์น้อยดวงสุดท้าย 2023 HO18 ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งเฉียดใกล้โลกมากขึ้นราว 290,000 ไมล์เท่านั้น ซึ่งจะเท่ากับ 1.2 เท่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม ดาวศุกร์ ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่ใกล้กับโลกที่สุด ยังมีระยะห่างกับโลกเพียง 38 ล้านไมล์เท่านั้น

ในบางครั้งดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) จะถูกดีดตัวเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในของเรา เนื่องจากทำปฏิกิริยาแรงโน้มถ่วงกับดาวพฤหัสบดี ส่งผลทำให้ดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นพุ่งเข้าสู่วงโคจรของโลก นอกจากนี้ หากดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวโคจรห่างจากวงโคจรของโลกในระยะ 30 ล้านไมล์ ก็จะถูกระบุว่าเป็นวัตถุใกล้โลก (near-Earth objects) หรือ NEOs

...

อย่างไรก็ตาม วัตถุใกล้โลกที่เข้าใกล้วงโคจรโลกมากกว่า 4.6 ล้านไมล์ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 140 เมตร จะถูกระบุว่าเป็นวัตถุที่มีแนวโน้มเป็นภัยต่อโลก ซึ่งในปัจจุบันนาซาสามารถระบุได้ทั้งสิ้น 2,300 ดวง

นาซาคาดการณ์ว่า มีดาวเคราะห์น้อยประมาณ 1.1 ล้านดวงอยู่ในระบบสุริยะของเรา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ Ceres และ Vesta ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 944,685 เมตร และ 529,474 เมตรตามลำดับ

ทั้งนี้ พอล โคเดส ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์วัตถุใกล้โลก กล่าวว่า ดาวเคราะห์น้อยจะเป็นอันตรายต่อโลกเมื่อผ่านไปหลายร้อยปี จนกว่าวงโคจรของพวกมันแปรเปลี่ยนเป็นวงโคจรที่สามารถพุ่งชนโลกได้.

ที่มา: NewsweekHT Tech