ปลาสเตอร์เจียนเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป โดยเฉพาะขึ้นชื่อเรื่องเนื้อและไข่ปลาที่รู้จักกันในชื่อ “ไข่ปลาคาเวียร์” ของมัน แต่ผลจากการทำประมงเกินขนาดควบคู่ไปกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่ สัตว์หลายชนิดจึงตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างหนัก

เมื่อเดือน พ.ย.2565 นักบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ในอังกฤษ ได้พบซากฟอสซิลปลาสเตอร์เจียน ขณะเยี่ยมชมแหล่งฟอสซิลที่มีชื่อเสียงในโมร็อกโก ถือเป็นการค้นพบปลาชนิดนี้ครั้งแรกในแอฟริกาก็ว่าได้ หลักฐานนี้บ่งชี้ว่าปลาสเตอร์เจียนเคยมีอย่างแพร่หลายมากกว่าที่คิดไว้ เพราะในอดีตปลาสเตอร์เจียนทุกสายพันธุ์เคยพบเฉพาะในซีกโลกเหนือเท่านั้น ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป รัสเซีย จีน แต่ไม่เคยพบในอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย แอฟริกา หรืออินเดีย ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปโบราณ กอนด์วานา เมื่อประมาณ 336 ล้านปีก่อน และเริ่มแตกแยกจากกันเมื่อประมาณ 150 ล้านปีที่แล้ว

นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า บรรพบุรุษของปลาสเตอร์เจียนมีอายุย้อนกลับไปในช่วงเวลาเดียวกับที่ไดโนเสาร์ย่ำเดินไปมาบนโลกเมื่อ 200 ล้านปีก่อน ปลาชนิดนี้เติบโตได้ยาวถึง 7 เมตร มีน้ำหนักถึง 1,500 กิโลกรัม ซึ่งขนาดดังกล่าวหายากมากในปัจจุบัน และปลาสเตอร์เจียนชนิดใหม่จากโมร็อกโก ยังทำให้แบบจำลองของตำแหน่งการกำเนิด กลุ่มปลาที่สำคัญชนิดนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น.

Credit : University of Portsmouth