หลุมดำมวลยวดยิ่งที่อยู่ตรงใจกลางกาแล็กซีเมซีเยร์ 87 (M87) ที่อยู่ห่างออกไป 55 ล้านปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า ได้ถูกสังเกตการณ์ในปี 2561 โดยการรวมพลังของกล้องโทรทรรศน์หลายตัวเข้าด้วยกัน ทำให้ได้ภาพสำคัญต่อการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในพฤติกรรมของหลุมดำและสิ่งที่ทำให้มันพ่นก๊าซหรือของเหลวออกมาอย่างรวดเร็วจนแจกจ่ายพลังงานไปทั่วจักรวาล

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ในจีน เผยว่า เป็นที่รู้กันว่ามีก๊าซหรือของเหลวถูกขับออกจากบริเวณรอบๆหลุมดำ แต่ก็ยังไม่เข้าใจ อย่างถ่องแท้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยตรง จึงจำเป็นต้องสังเกตต้นกำเนิดของก๊าซหรือของเหลวที่พ่นออกมาเหล่านั้นให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในภาพใหม่ที่ได้มาล่าสุด ก็มองเห็นการเชื่อมต่อระหว่างฐานของก๊าซหรือของเหลวที่พ่นออกมา กับสสารที่หมุนรอบหลุมดำมวลยวดยิ่งได้ ทีมนักดาราศาสตร์ที่เฝ้าวิจัยเรื่องนี้ เผยว่า เมื่อสสารโคจรรอบหลุมดำ มันจะร้อนขึ้นและปล่อยรังสีออกมาในช่วงความยาวคลื่นของแสง แสงได้สร้างโครงสร้างวงแหวนที่เรืองรองรอบๆ เงาของหลุมดำหรือความมืดที่อยู่ตรงกลาง และภาพใหม่ก็ได้จับภาพแสงที่ปล่อยออกมาที่ความยาวคลื่น พบว่า ยาวกว่าภาพที่ได้มาเมื่อปี 2562 และขนาดของวงแหวนในภาพใหม่ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับภาพปี 2562 ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ ฮอไรซัน (Event Horizon Telescope Collaboration)

...

นักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์ด้านดาราศาสตร์วิทยุในเยอรมนี ระบุว่าที่ความยาวคลื่นนี้ เราสามารถเห็นได้ว่าก๊าซหรือของเหลวโผล่ออกมาจากวงแหวนรอบๆหลุมดำมวลยวดยิ่งอย่างไร.