ระบบประสาทของลำไส้ทำหน้าที่ควบคุมทุกด้านของการย่อยอาหาร การเคลื่อนที่ของอาหารผ่านระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคกระเพาะ หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทในกระเพาะอาหาร จนทำให้อาหารเคลื่อนไหวช้ามาก มีผู้เชี่ยวชาญตั้งทฤษฎีว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจะช่วยให้กระเพาะหดตัวและช่วยดันอาหาร ทว่าต่อมาพบว่าแม้การใช้วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในระดับที่น้อยกว่า

ล่าสุดวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ หรือเอ็มไอที เผยว่า ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่ปล่อยออกมาจากกระเพาะอาหารมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความอยากอาหาร ฮอร์โมนนี้ผลิตโดยเซลล์ต่อมไร้ท่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทลำไส้ที่ควบคุมความหิว ความวิงเวียน ความรู้สึกอิ่ม ทีมจึงมองหาอุปกรณ์ที่จะกลืนเข้าไปและอยู่ในกระเพาะอาหารได้ชั่วคราว โดยสามารถกระตุ้นเซลล์ต่อมไร้ท่อให้ผลิตฮอร์โมนเกรลินได้ จนออกแบบเป็นแคปซูล “electroceutical” มีพื้นผิวเป็นร่องเพื่อดูดของเหลวออกจากขั้วไฟฟ้า พื้นผิวแบบนี้ได้แรงบันดาลใจจากผิวหนังกิ้งก่าทะเลทรายออสเตรเลีย “มังกรหนาม” เมื่อกินแคปซูลเข้าไปก็จะส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเซลล์ เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการวิงเวียนเบื่ออาหาร เช่น ภาวะลดลงของกล้ามเนื้อและไขมัน อันมาจากการสูญเสียมวลกาย ที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

นักวิจัยทดสอบในสัตว์ก็พบว่าแคปซูลนี้สามารถเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเกรลินในกระเพาะอาหาร โดยอธิบายว่าหลังกระตุ้นไฟฟ้าไป 20 นาที ระดับเกรลินในกระแสเลือดได้สูงขึ้นมาก และยังพบว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดการอักเสบหรือผลเสียอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ คาดวิธีนี้จะนำไปปรับใช้เพื่อส่งการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าไปยังส่วนอื่นๆของระบบทางเดินอาหารได้ในอนาคต.

...

Credit : Khalil B. Ramadi et al