เยอรมนีดำเนินการปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายของประเทศแล้ว เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ของการผลิตพลังงานที่จะไม่พึ่งพาพลังนิวเคลียร์อีก

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 เม.ย. 2566 เยอรมนีดำเนินการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายของประเทศแล้ว ยุติยุคสมัยแห่งพลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมันซึ่งดำเนินมานานว่า 6 ทศวรรษ เพื่อก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการผลิตพลังงานโดยไม่พึ่งพาพลังนิวเคลียร์อีก

เรื่องพลังงานนิวเคลียร์เป็นข้อถกเถียงในเยอรมนีมาตลอด ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ยุติการพึ่งพาเทคโนโลยีนี้ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ยั่งยืน, อันตราย และทำให้ไขว้เขวไปจากการเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่า การปิดโรงงานนิวเคลียร์เป็นการมองอะไรอย่างตื้นเขินเกินไป พวกเขามองว่าการทำเช่นนี้เป็นการปิดก๊อกแหล่งพลังงานที่พึ่งพาได้และผลิตคาร์บอนต่ำ ในช่วงที่โลกกำลังต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก

แต่แม้จะมีความพยายามเรียกร้องในนาทีสุดท้าย ให้เปิดโรงงานทั้ง 3 แห่งต่อไปก่อน เนื่องจากปัญหาวิกฤติพลังงาน แต่รัฐบาลเยอรมนีก็ยังเดินหน้าตามแผน “จุดยืนของรัฐบาลเยอรมันนั้นชัดเจน พลังงานนิวเคลียร์ไม่สะอาดและไม่ยั่งยืน” นางสเตฟฟี เลิมเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว “เรากำลังออกเดินทางไปสู่ยุคสมัยใหม่ของการผลิตพลังงาน”

ทั้งนี้ การปิดโรงงานทั้ง 3 แห่งซึ่งได้แก่โรงงาน เอมส์แลนด์ (Emsland), ไอซาร์ 2 (Isar 2) และ เนกคาร์เวสตีม (Neckarwestheim) เป็นแผนที่วางกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปไกลกว่านั้น

ในช่วงทศวรรษที่ ‘70s เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างรุนแรงในเยอรมนี เพราะเรื่องความปลอดภัย โดยบางคนถึงขั้นเชื่อมเชิงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่เข้ากับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดการก่อตั้งพรรคกรีน ฝ่ายหนุนพลังงานสะอาด และเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้

...

อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ ยิ่งทำให้กระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นอีก ทั้งการหลอมละลายบางส่วนของเตาปฏิกรณ์ที่โรงงานบนเกาะทรี ไมล์ ในรัฐเพนซิลเวเนียเมื่อปี 2522 ตามด้วยหายนะเชอร์โนบิลในปี 2529 ซึ่งทำให้เกิดเมฆกากกัมมันตรังสีลอยมาถึงบางส่วนของเยอรมนี และฟางเส้นสุดท้ายคืออุบัติเหตุที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมา ในปี 2554

สำหรับชาวเยอรมันจำนวนมาก หายนะที่ฟูกูชิมาเป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า การรับประกันว่าอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขนาดใหญ่จะไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือ และทำให้นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเคยสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาตลอด เปลี่ยนท่าที และประกาศจะพาเยอรมนีถอนตัวจากพลังงานนิวเคลียร์เร็วขึ้น และปิดโรงไฟฟ้าที่เก่าแล้วทันที

อย่างไรก็ตาม กระแสการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนีก็ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง หลังรัสเซียรุกรานยูเครน และมอสโกหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตร ทำให้เกิดความหวาดกลัวเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน จนแผนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายต้องเลื่อนจากเดือนธันวาคม 2565 เพื่อคิดทบทวน

แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ปฏิเสธข้อเสนอเรื่องการใช้พลังนิวเคลียร์ และเห็นชอบให้โรงงานทั้ง 3 แห่งเปิดทำการได้จนถึงวันที่ 15 เม.ย. เท่านั้น

ที่มา : cnn