สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า สภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียประสบความสำเร็จในการลงมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ว่าด้วยการประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต เข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการลงมติโดยวุฒิสภา ก่อนทูลเกล้าต่อสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ซึ่งสื่อท้องถิ่นประเมินว่าการโหวตในขั้นตอนวุฒิสภาจะผ่านไปโดยไม่มีปัญหา แต่ยังไม่แน่ชัดว่ากฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียชี้แจงว่า กฎหมายปฏิรูปจะเป็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตให้เหลือเพียงโทษโบยและจำคุก 30-40 ปี ขณะที่โทษจำคุกตลอดชีวิตจะมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ความผิด 34 ประเภท ที่เคยได้รับโทษประหารชีวิตจะถูกปรับเปลี่ยนใหม่เป็นโบยและจำคุก ทั้งจะไม่ดำเนินการลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ต้องคดีที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต อาทิ คดีใช้อาวุธปืน ลักลอบขนอาวุธปืน ลักพาตัว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียเคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายปฏิรูปยังคงให้อำนาจผู้พิพากษา ในการตัดสินโทษประหารชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษา

นายรามคาร์พาล สิงห์ รมช.ยุติธรรมมาเลเซีย กล่าวว่า โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต เป็นการพิพากษาโทษที่ไม่ให้โอกาสในการสำนึกผิด ซึ่งเท่าที่ผ่านมามองว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องปรามไม่ให้เกิดอาชญากรรม การประหารชีวิตไม่ได้ส่งผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการ

สื่อท้องถิ่นมาเลเซียรายงานด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียเคยออกคำสั่งพักการลงโทษด้วยการประหารชีวิตเมื่อปี 2561 พร้อมให้สัญญาว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง แต่แรงกดดันจากบางพรรคการเมืองได้ทำให้รัฐบาลตัดสินใจนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ในปี 2019 แต่ให้เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาว่าจะลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ต้องหาคดีที่เข้าข่ายการประหารชีวิตหรือไม่

...

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวชื่นชมว่า การผ่านร่างกฎหมายในขั้นตอนสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นก้าวที่สำคัญของมาเลเซียและเป็นตัวอย่างแก่ชาติสมาชิกอาเซียน พร้อมหวังว่ามาเลเซียจะกระตุ้นชาติอาเซียนให้เดินรอยตาม พร้อมระบุว่าเมื่อปี 2565 รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการประหารชีวิตผู้ต้องหาคดียาเสพติด 11 คน ขณะที่เมียนมาประหาร ชีวิต 4 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ.