สมาคมนิตยสารญี่ปุ่น สำนักพิมพ์ และกองบรรณาธิการ หรือ AJPEA เผยภาพรวมตลาดสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า มีมูลค่าราว 1,630,000 ล้านเยน หรือราว 421,522 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 2.6% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี

และเมื่อแยกประเภทของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะพบว่า ฝั่ง ดิจิทัล มีการเติบโตเช่นเดียวกับแนวโน้มของตลาดสิ่งพิมพ์ทั่วโลก โดยเมื่อปีที่แล้วมียอดเพิ่มขึ้น 7.5% ด้วยมูลค่า 501,300 ล้านเยน (ประมาณ 129,557 ล้านบาท) ปัจจัยสำคัญมาจาก “ยอดขายการ์ตูนดิจิทัล” ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 89.3% ของตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิทัล ด้วยมูลค่ารวม 447.9 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 8.9% เติบโตมากกว่า 5 เท่านับแต่ปี 2557

ในขณะที่ฝั่ง สิ่งพิมพ์ มียอดรายได้หดตัวลง 6.5% เหลือประมาณ 1,129,200 ล้านเยน (หรือราว 291,855 ล้านบาท) แต่ก็ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 70% พบว่า หนังสือลดลง 4.5% วารสารลดลง 9.1% ส่วนสิ่งพิมพ์รายเดือน (ซึ่งรวมถึงหนังสือการ์ตูนมังงะ) ลดลงมากกว่าหมวดอื่นๆ ที่ 9.7% ส่วนสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์ลดลง 5.7-10%

ในปี 2565 ที่ผ่านมายังพบว่า หนังสือการ์ตูนและนิตยสารมังงะในรูปแบบสิ่งพิมพ์ทำยอดขาย 229,100 ล้านเยน ลดลง 13.4% จากปีที่แล้ว ขณะที่ยอดขายการ์ตูนในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น 8.9% เป็น 447,900 ล้านเยน โดยยอดขายมังงะทั้งหมดคิดเป็น 41.5% ของตลาดสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศ เติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 40% เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

มังงะที่ขายดีที่สุดแห่งปี ได้แก่ “Jujutsu Kaisen” หรือมหาเวทย์ผนึกมาร การ์ตูนสายดาร์กแฟนตาซี เปิดตัวครั้งแรกในปี 2561 และได้รับความนิยมอย่างมากนับแต่นั้นเป็นต้นมา ขายได้มากกว่า 12 ล้านชุด ในปี 2565 เพียงปีเดียว! ตามมาด้วย “Tokyo Revengers” เรื่องราวของการย้อนเวลากลับไปแก้ไขสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือคนรักที่ถูกฆ่าตาย และ “Spy x Family” ในอันดับ 3 ที่เล่าเรื่องราวสายลับที่ต้องสร้างครอบครัวปลอมๆ เพื่อแฝงตัวดำเนินแผนการให้สำเร็จที่ได้รับความนิยมจนถึงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน

...

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือในรูปแบบไหน จะสิ่งพิมพ์หรือดิจิทัลก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งสิ้น หากมีเวลาก็อย่าลืมหาซื้อเล่มที่ถูกใจไว้อ่านกันเพลินๆ.

อมรดา พงศ์อุทัย