นักดาราศาสตร์คิดว่าเอกภพหรือจักรวาลเต็มไปด้วยกาแล็กซีขนาดเล็กที่เรียกกาแล็กซีแคระ ในช่วงหลายร้อยล้านปีหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ซึ่งเป็นทฤษฎีอธิบายการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ กาแล็กซีแคระจะรวมกับสิ่งอื่นในเอกภพยุคแรก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจนสร้างกาแล็กซีที่ใหญ่ขึ้น กาแล็กซีแคระมักมีดาวฤกษ์ที่มีมวลรวมน้อยกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 3,000 ล้านเท่า

อย่างไรก็ตาม กาแล็กซีแคระยุคแรกสุดนั้น ยากที่จะสังเกตด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะพวกมันจะจางมากเป็นพิเศษและอยู่ไกล ทว่าเมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอลาบามา ในเมืองทัสคาลูซา สหรัฐอเมริกา เผยการค้นพบหลักฐานแรกเกี่ยวกับหลุมดำขนาดยักษ์ในกาแล็กซีแคระที่ชนกัน จากการตรวจจับของกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราหรือกล้องรังสีเอกซ์จันทรา และเปรียบเทียบกับข้อมูลอินฟราเรดจากกล้อง โทรทรรศน์อวกาศไวส์ ขององค์การนาซา สหรัฐฯ และข้อมูลเชิงแสงจากกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย

หลุมดำคู่หนึ่งอยู่ในกระจุกกาแล็กซี Abell 133 อยู่ห่างโลก 760 ล้านปีแสง อีกแห่งอยู่ในกระจุกกาแล็กซี Abell 1758S อยู่ห่างออกไป 3,200 ล้านปีแสง ทั้ง 2 คู่แสดงโครงสร้างที่เป็นลักษณะเฉพาะของการชนกันของกาแล็กซี นักดารา ศาสตร์ระบุว่ารายละเอียดของควบรวมหลุมดำและกาแล็กซีแคระอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอดีตของทางช้างเผือก เพราะเชื่อว่ากาแล็กซีเกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากกาแล็กซีแคระหรือกาแล็กซีขนาดเล็กประเภทอื่นๆ ซึ่งเติบโตใหญ่ผ่านการควบรวมตลอดเวลาหลายพันล้านปี.

Credit : X-ray: NASA/CXC/Univ. of Alabama/M. Micic et al.; Optical: International Gemini Observatory/NOIRLab/NSF/AURA Press Image, Caption, and Videos.