ภาพผลพวงจากการระเบิดอันเนื่องมาจากการชนกันของดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย 2 ดวง ที่โรเบิร์ต เฟเซน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากวิทยาลัยดาร์ทมัธ ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา จับภาพได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ฮิลท์เนอร์ ขนาด 2.4 เมตร ที่หอดูดาว MDM ซึ่งวิทยาลัยดาร์ทมัธเป็นเจ้าของและดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆอีก 4 แห่ง อยู่ติดกับหอดูดาวแห่งชาติคิตต์ พีค ในรัฐอริโซนา อาจช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่หาได้ยาก

ภาพนี้แสดงการระเบิดเป็นลักษณะเส้นใยบางๆ เหมือนพลุดอกไม้ ไฟที่แผ่ออกมาจากดวงดาวที่ผิดปกติอย่างมาก ตรงใจกลางของเนบิวลาชื่อ Pa 30 เป็นบริเวณที่หนาแน่นของก๊าซเรืองแสง ฝุ่น และสสารอื่น Pa 30 ดูเหมือนจะมีไฮโดรเจนและฮีเลียมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่กลับอุดมไปด้วยองค์ประกอบของกำมะถันและอาร์กอนหรือก๊าซเฉื่อย ขนาดของ Pa 30 และความเร็วที่กำลังขยายตัวประมาณ 3.9 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง บ่งชี้ว่าการชนกันของดาวฤกษ์ที่ก่อการระเบิดนี้ เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.1724 ซึ่งสอดคล้องกับการสังเกตของนักดาราศาสตร์จีนและญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ดาวสว่างมาก ปรากฏขึ้นในกลุ่มดาวแคสสิโอเปียหรือกลุ่มดาวค้างคาวอย่างกะทันหัน โดยมองเห็นได้ประมาณ 6 เดือนขณะที่มันค่อยๆจางหายไป

ดังนั้น ภาพล่าสุดที่โทรทรรศน์ฮิลท์เนอร์จับภาพได้ก็คือการบันทึกเหตุการณ์หลังการชนกันของดาวฤกษ์ที่ผ่านมานานเกือบ 850 ปี.

Credit : Robert Fesen