นาซายืนยัน ดาวเคราะห์น้อยที่พวกเขาส่งยานพุ่งชนเมื่อเดือนก่อน มีวงโคจรเปลี่ยนไปจริง ประสบความสำเร็จในการทดสอบเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นภัยต่อมนุษย์

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา ยืนยันในวันอังคารที่ 11 ต.ค. 2565 ว่า การส่งยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเมื่อเดือนก่อน สามารถเปลี่ยนเส้นทางของ ดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ซึ่งมีความกว้าง 160 ม. ได้สำเร็จ

จุดปะทะระหว่างยานของนาซากับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส อยู่ห่างจากโลกราว 11 ล้านกม. เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยยานน้ำหนัก 750 กก. พุ่งเข้าชนไดมอร์ฟอสโดยตรงด้วยความเร็ว 22,000 กม./ชม. ทำให้ตัวยานแหลกสลาย

ผลลัพธ์ของการพุ่งชนครั้งนี้ ทำให้วงโคจรของ ไดมอร์ฟอส ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อย ดิดีมอส ซึ่งมีความกว้างถึง 780 ม. เปลี่ยนไปราว 4% จากเดิมที่ใช้เวลาโคจร 11 ชั่วโมง 23 นาที จึงครบ 1 รอบ กลับเพิ่มเป็น 11 ชั่วโมง 32 นาที

นาซาได้ข้อสรุปดังกล่าวหลังจากทำการตรวจวัดด้วยกล้องโทรทรรศน์ในอวกาศและบนพื้นโลก นับเป็นการประสบความสำเร็จของโครงการ DART หรือภารกิจทดสอบการเปลี่ยนเส้นทางวงโคจรดาวเคราะห์น้อยคู่ ‘ไดมอร์ฟอส กับดิดีมอส’ เพื่อพิสูจน์แนวคิดที่ว่าการเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยนั้นทำได้จริง ถ้ามีขนาดไม่ใหญ่เกินไป

ดร.แนนซี ชาบอต จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นผู้นำภารกิจ DART ให้นาซา กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้แม้จะดูเล็กน้อย แต่หากเราจะเปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อยในอนาคต เราจะทำมันล่วงหน้านานหลายปี ช่วงเวลาในการเตือนภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การเปลี่ยนวิธีโคจรแบบนี้สามารถใช้กับดาวเคราะห์น้อยที่ขนาดใหญ่กว่าได้ในอนาคต

...

อย่างไรก็ตาม ดร.ทอม สตัตเลอร์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของโครงการ DART เตือนว่า ผลการทดสอบครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางฟิสิกส์ได้ แต่อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปไปต่างๆ นานา จากการทดสอบนี้เพียงครั้งเดียว เพราะดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงมีความแตกต่างกันทั้งองค์ประกอบและโครงสร้าง การส่งยานพุ่งชนครั้งต่อไปอาจไม่เกิดผลลัพธ์เหมือนกับตอนนี้