ประชาคมโลกจับตามอง “วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา” ครั้งเลวร้ายสุดในรอบหลายปีหลังเจอ “โควิด–19 กระทบต่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว” ฉุดเงินตราไม่พอนำเข้าเชื้อเพลิงจนระบบขนส่งสาธารณะพังทลาย “รัฐบาลชัตดาวน์” หน่วยงานรัฐและโรงเรียนทุกแห่งในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

แล้วยังถูกตัดไฟฟ้าวันละ 14 ชม.ซ้ำเติมความเดือดร้อนชาวศรีลังกาที่กำลังเจอปัญหาขาดแคลนอาหารและยา จนผู้คนไม่พอใจลุกฮือประท้วงขับไล่ “โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดี” ให้ออกจากตำแหน่งจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวนี้ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า

ปิติ ศรีแสงนาม
ปิติ ศรีแสงนาม

ศรีลังกาเป็นประเทศหนึ่งที่มี “สงครามกลางเมืองยาวนาน” อันมีรากเหง้ามาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์สิงหลที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ อีกฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทมิฬอันเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ คราวนั้นความขัดแย้งพัฒนากลายเป็นเหตุจลาจลรุนแรง ก่อวินาศกรรม และการระเบิดพลีชีพมากมาย

...

กระทั่งในปี 2009...โกตาบายา ราชปักษา รมว.กลาโหมสมัยนั้นเป็นผู้คุมปฏิบัติการปราบกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ “จนยุติสงครามกลางอันยาวนานมาหลายปีครั้งนั้นได้สำเร็จ” เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น “เศรษฐกิจ” ก็เริ่มปรับฟื้นตัวเข้มแข็งตามลำดับ สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้อย่างมหาศาล

เพราะในช่วงราวปี 2009 มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ “วิกฤติซับไพรม์ หรือวิกฤติหนี้ด้อยคุณภาพ (Sub–Prime Crisis) ในสหรัฐอเมริกา” ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องคุกคามความมั่นคงของสถาบันการเงิน “บริษัทใหญ่หลายแห่งล้มละลายปิดกิจการ” แล้วต่อเนื่องกับเหตุการณ์วิกฤติในยุโรปอีกด้วย

เหตุนี้ส่งผลให้ “เม็ดเงินจากสหรัฐฯและยุโรป” ไหลมาลงทุนในทวีปเอเชียใต้ เพราะเป็นตลาดการลงทุนเปิดใหม่ “มีอัตราความก้าวหน้าเจริญเติบโตสูง” ในขณะนั้นประเทศศรีลังกาก็ถูกมองว่า “เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตไปได้ไกล” ด้วยทำเลที่ตั้งเป็นหมู่เกาะอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดียฝั่งทะเลเบงกอลจรดยาวไปยังฝั่งทะเลอาหรับ

ลักษณะตั้งอยู่ “จุดกึ่งกลางระหว่างตะวันตกกับตะวันออก” ทำให้ศรีลังกามีแนวเส้นทางการค้าขายทั้งยุโรปและเอเชีย ที่สมัยนั้นมี “ท่าเรือโคลัมโบ” เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าขายสำคัญในอนุทวีปเอเชียใต้

ยิ่งกว่านั้น “ศรีลังกา” ยังออกนโยบายดึงดูดด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 200 รูปีศรีลังกา/ดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งนี้ทำให้สามารถดึงเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าศรีลังกาได้อย่างมหาศาล

สถานการณ์นี้คล้ายๆ “อาเซียนในช่วงทศวรรษปี 1990” ก็มีเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จนทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำหนดอัตราค่าเงินค่อนข้างสูง อย่างเช่น กรณี “ประเทศไทย” มีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัญหามีอยู่ว่า “เม็ดเงินที่ไหลเข้ามานี้กลับมิได้นำไปปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพต่อการผลิตหรือการลงทุนได้อย่างแท้จริง” เพราะด้วยประสิทธิภาพการผลิตของประเทศจะสามารถเติบโตขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อ “โครงสร้างพื้นฐาน” ถูกพัฒนาควบคู่กับเงินตราที่ไหลเข้ามานั้นด้วยความสมดุลต่อกัน

เพื่อหนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนำไปสู่การพัฒนาความเจริญเติบโตในระยะยาวต่อไป

ทว่าด้วยคราวนั้น “ศรีลังกาเจอกับปัญหาการเมืองผูกขาด” ในการครองตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกฯยาวนานต่อเนื่องจาก “ตระกูลราชปักษา” ที่ตั้งญาติคนใกล้ชิดขึ้นเป็นรัฐมนตรี ราชการระดับสูง ประธานบอร์ดสำคัญ แล้วเริ่มโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ท่าเรือ ด้วยการกู้ยืนเงินจากจีนมาลงทุนในอัตราดอกเบี้ยสูง

กระทั่งครบวาระ 5 ปี แต่การก่อสร้างหลายโครงการกลับไม่เสร็จก่อนเปลี่ยนมาเป็น “รัฐบาลตระกูลสิริเสนา” ก็มีการรื้อโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลราชปักษาแล้วทำโครงการของตัวเองขึ้นมาใหม่

...

ถัดมาเมื่อ “รัฐบาลสิริเสนาครบวาระ 5 ปี” มีการเลือกตั้งใหม่ “ราชปักษาก็เข้ามาเป็นผู้นำการเมือง” รื้อโครงการของรัฐบาลสิริเสนาทำโครงการใหม่อีก สุดท้ายกลายเป็นว่าโครงการพื้นฐานทั้งหลายที่ควรได้ใช้ประโยชน์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศให้ดีขึ้น อันจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น เงินส่วนใหญ่ก็ถูกนำมา “เก็งกําไร” ไม่ว่าจะเป็นเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร กลายเป็นส่งสัญญาณการก่อตัวของฟองสบู่เกิดขึ้น “ลักษณะคล้ายๆสถานการณ์ในไทยปี 1991–1996” กรณีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่มีตัวปะทุมาจากการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“กรณีศรีลังกามีเหตุปะทุก่อวิกฤติเศรษฐกิจมาจากในปี 2019 ได้เกิดเหตุก่อการร้ายหลายจุดในกรุงโคลัมโบเมืองหลวงในช่วงประชาชนร่วมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นี้กระทบต่อภาพลักษณ์ ทำลายการท่องเที่ยวอันเป็นแหล่งรายได้หลักสำคัญพังยับเยินทันที” รศ.ดร.ปิติว่า

...

ย้ำด้วยเหตุการณ์ปีนั้นเป็นจังหวะพอดีกับ “รัฐบาลราชปักษาหมดวาระ” ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าตระกูลราชปักษาอยากกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงออก “นโยบายประชานิยมสุดขั้วหาเสียง” ในการลดภาระภาษีสร้างข้อยกเว้น “ปรับขึ้นรายได้พึงประเมินขั้นตํ่า” เพื่อให้ฐานเสียงรากหญ้าไม่ต้องจ่ายภาษีนั้น

ดังนั้น “คนศรีลังกา 1 ใน 3 ของประเทศไม่ต้องเสียภาษี” กระทบต่อรายรับรัฐจัดเก็บภาษีลดลง 35% ส่วนคนร่ำรวยเดิมเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าตามรายได้ก็ “ถูกยกเลิก” แล้วลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 8%

เช่นนี้ “ฐานเสียงทางการเมืองราชปักษาก็เพิ่มมหาศาล” จนได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเริ่มทำนโยบายโครงสร้างพื้นฐานใหม่อีก “แต่ครั้งนี้เก็บภาษีได้น้อยจนไม่มีรายได้” ด้วยศรีลังกาพึ่งพารายได้การส่งออกเป็นหลักของประเทศจากสินค้าเกษตร และภาคการท่องเที่ยว เมื่อเกิดวิกฤติการบริหารจัดการก็ไม่ค่อยเกิดผล

หนำซ้ำกระทรวงเกษตรและชลประทานก็มี ชามาล ราชปักษา เจ้ากระทรวงนี้บริหารผิดพลาดจาก “นโยบายบังคับปลูกพืชผักออร์แกนิก” เพราะไม่มีดอลลาร์สหรัฐฯสำรองนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งประเทศ “ทำให้ผลผลิตลดลง 40%” จากที่เคยผลิตข้าวเพียงพอต่อคนในประเทศต้องนำเข้าแทนจนไม่มีรายได้จากสินค้าการเกษตรตามมา

...

แม้แต่ “การบริหารน้ำก็ผิดพลาดอีก” จนขาดแคลนน้ำในเขื่อนไม่อาจผลิตพลังงานไฟฟ้า “ต้องพึ่งพานำเข้าก๊าซธรรมชาติมาปั่นไฟฟ้า” กลายเป็นสูญเสียเงินตราต่างประเทศสำรองมากขึ้น

สุดท้ายหาทางออกได้ง่ายที่สุดคือ “พิมพ์เงินเพิ่ม” ในระลอกแรกพิมพ์ออกมา 1 แสนกว่าล้านรูปี ครั้งที่สอง 4 แสนกว่าล้านรูปี ผลตามมาคือ “พิมพ์เงินออกมาล้นระบบ” ทำให้มูลค่าของเงินลดลงเป็นที่มา “ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง” ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2022 อยู่ที่ 18.7% เทียบกับในเดือนเดียวกันปี 2021 ที่ระดับ 3.9%

แน่นอนว่าแม้ “ศรีลังกามีเงินรูปีเพิ่มขึ้นแต่ยังต้องการเงินตราต่างประเทศ” เข้ามาไฟแนนซ์โครงการต่างๆ เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในเงินรูปีจน “ขอกู้เงิน” ก่อหนี้สาธารณะมาทำนโยบายประชานิยมและกระตุ้นเศรษฐกิจ เดิมเคยมีอัตราเงินกู้หนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ระดับ 42% ในปี 2019 ก็ปรับขึ้นเป็น 119% ในปี 2021

ปลายปีนี้คาดว่า “รัฐบาลศรีลังกา” น่าจะมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้สาธารณะ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดการล่มสลายของนโยบายการเงินและการคลัง กลายเป็นว่าต่างชาติไม่เชื่อมั่นในเงินรูปีหนักกว่าเดิม

สิ่งที่ตามมาคือ “นักลงทุนเก็งกำไร” เห็นท่าเศรษฐกิจศรีลังกาแล้วไม่สู้ดีก็ถอนเงินออกจากประเทศทำให้เงินทุนสำรองเริ่มหายไปเรื่อยๆ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดต้องมาเจอ “โควิด–19 ระบาดหนัก” จนกระทบต่อการท่องเที่ยวรายได้ส่วนนี้หายไป “ไม่มีเงินใหม่เข้ามา” แม้แต่คนในประเทศก็ไม่มีจิตใจเดินทางท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

อีกทั้ง “ผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำจนต้องนำเข้าอาหาร” ยิ่งกลายเป็นนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯสำรองออกไปเยอะกว่าเดิม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศรีลังกาไม่มีไฟฟ้า ไม่มีพลังงาน ไม่มีเงินทุนสำรอง คนไม่มีงาน ไม่มีอะไรจะกิน เงินเฟ้อสูง แล้วไม่รู้ว่าจะมีอนาคตหรือไม่เพราะ “เศรษฐกิจล่มสลาย” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

นี่คือวิกฤติอันเลวร้ายที่ “ศรีลังกาเจอเศรษฐกิจล่มสลาย” ที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถมมากเกินจนถังแตก สะท้อนบางอย่างส่งสัญญาณมาถึง “ประเทศไทย” ให้ต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้ไว้ก็ดี...