ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวคราวของแวดวงอวกาศที่ต้องจับตาก็คือภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารจาก 3 ชาติ จาก 3 ภูมิภาคของโลก นั่นคือ ยานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี (UAE), ยานของจีน, ยานของสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 3 ลำต่างประสบความสำเร็จในการเดินทางถึงดาวเคราะห์สีแดง และได้ปฏิบัติภารกิจตามแผนที่วางไว้ โดยยานสำรวจของจีน และสหรัฐฯ ต่างได้ลงไปสำรวจบนดาวอังคารแล้ว

การไปถึงดาวอังคารนับว่าลุล่วงไปอีกหนึ่งหมุดหมาย ยังมีภารกิจอื่นๆที่ทั้ง 3 ชาติตั้งเป้าที่จะทำ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มี องค์การอวกาศแห่งชาติจีนได้เผยถึงเป้าหมายใหม่ นั่นคือแผนการสร้างระบบป้องกันวัตถุใกล้โลก และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าติดตามวัตถุใกล้โลก การจัดทำรายการ การเตือนล่วงหน้า และการตอบโต้ ในช่วงปี 2564-2568 หรือเรียกง่ายๆ ว่าจีนกำลังวางแผนป้องกันอันตรายจากดาวเคราะห์ที่มีโอกาสคุกคามโจมตีโลกของเรานั่นเอง และถึงแม้จะยังไม่เปิดเผยว่าจีนเล็งจะทดสอบกับดาวเคราะห์น้อยดวงใดไว้ แต่คาดการณ์ว่าแผนป้องกันดาวเคราะห์น้อยของวงการอวกาศแดนมังกรคงไม่ช้ากว่าปี 2568

การป้องกันวัตถุที่จะเข้าใกล้โลก เช่น ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เนื่องจากเมื่อ พ.ย.2564 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้เปิดตัวโครงการ DART (Double Asteroid Redirection Test) ทดสอบการเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย โดยส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กชื่อ “ดิมอร์ฟอส” (Dimorphos) ที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนวงโคจรของดิมอร์ฟอส ซึ่งโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยแฝดของมันที่ชื่อ “ดีดิมอส” ที่มีขนาดใหญ่กว่า ขณะที่องค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ พันธมิตรสำคัญของนาซา ก็วางแผนโครงการชื่อ Hera ให้ทำภารกิจติดตามผลที่จะเกิดขึ้นของดีดิมอส และดิมอร์ฟอส โดยจะตรวจสอบว่ายาน DART จะเปลี่ยนแปลงวงโคจรของวัตถุอวกาศคู่นี้อย่างไร

...

ขณะที่ฝั่งยูเออี ไม่ได้เปิดแผนพิชิตดาวเคราะห์น้อยเหมือน 2 มหาอำนาจ แต่ก็วางแผนปักหลักอย่างมั่นคงในอุตสาหกรรมอวกาศ ล่าสุด พวกเขาประกาศจะส่งนักบินอวกาศไปปฏิบัติงานที่สถานีอวกาศนานาชาตินาน 6 เดือนในปี 2566 และวางแผนตั้งฐานบนดาวอังคารให้ได้ในปี 2660.

ภัค เศารยะ