กลุ่มชาติตะวันตกมีการประเมินไว้ว่า สงครามยูเครน-รัสเซีย ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีความเป็นไปได้ที่อาจจะยืดเยื้อไปอีกนานหลายเดือนหรือหลายปี

แน่นอนหากสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ ยูเครนมองว่าตัวเองกำลังได้เปรียบ รัสเซียก็ศักดิ์ศรีค้ำคอ ทั้งสองฝ่ายไม่มีท่าทีว่าใครจะยอมให้ใครก่อน การคาดคะเนกรอบเวลาเป็นปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

การศึกครั้งนี้ ที่กินเวลาไปแล้วกว่า 2 เดือน มีความชัดเจนว่าคนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะหยุดหรือไปต่อคือ “รัสเซีย” เพียงผู้เดียว และคำถามที่ตามมาว่า รัสเซียต้องบอบช้ำแค่ไหนถึงจะยอมถอย เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแนวรบ “ดอนบาส” ภาคตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนนั้นต่างกับแนวรบกรุงเคียฟ ตัวอย่างคือเมืองท่า “มาริอูโปล” ที่ถูกยิงถล่ม ทิ้งระเบิดจนยับเยิน

เห็นได้ชัดว่ารัสเซียกำลังหมดความเกรงใจ และพร้อมที่จะใช้อาวุธหนักเข้าแลก มีรายงานอ้างแหล่งข่าวกองทัพของสื่อรัสเซีย ที่ระบุว่า กลยุทธ์กองทัพรัสเซียตอนนี้คือรุกคืบกินแดนอย่างช้าๆ สร้างแนวหลังให้มั่นคง ป้องกันไม่ให้ถูกซุ่มโจมตีเสบียง-เส้นทางส่งกำลังบำรุง เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากการบุกสายฟ้าแลบที่เร็วเกินไปจนแนวหลังรั่ว เยี่ยงช่วงเดือนแรกในแนวรบภาคเหนือ และหากรุกคืบไปแล้วเจอการต้านทาน ก็จะใช้ปืนใหญ่-เครื่องยิงจรวด กระหน่ำยิง จนกว่าแนวต้านทานจะล่าถอยไป หรือถูกทำลายจนราบคาบ ถึงค่อยบุกต่อไป

สงครามยูเครน หรือปฏิบัติการทางทหารพิเศษครั้งนี้ รัสเซียย้ำเป้าหมายภารกิจอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือ “ลดกำลังทหารของยูเครน” (Demilitarise) ซึ่งการรบพุ่ง-การทำลายล้าง การยิงขีปนาวุธ หรือจรวดร่อนจากเรือรบที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ถือว่ากำลังตอบเป้าประสงค์

...

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายประการที่สองของรัสเซีย “การขจัดนาซี” (Denazify) ถือว่าค่อนข้างคลุมเครือ ดูจับต้องยาก เพราะเป็นเรื่องอุดมการณ์ แนวความคิด และเรื่องนี้จากการสนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ว่านาซีคือรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันหรืออะไร พร้อมระบุว่ารัสเซียเคยมีกระบวนการขจัดนาซีในประเทศ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งใช้เวลานานระดับทศวรรษ

ด้านนักวิเคราะห์ตะวันตกบางส่วนที่พยายามหาคำตอบ ระบุว่าสิ่งที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนวคิดนาซีในยูเครน อาจหมายถึง “กองพันอาซอฟ” (Azov Battalion) ที่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มทหารอาสาที่มีแนวคิดคลั่งชาติ นีโอ–นาซี ต่อต้านชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่า (อุนเทอร์เมนส์เชน) คนผิวขาวเหนือกว่าเชื้อชาติใด

กองพันอาซอฟแรกเริ่มมีนักรบประมาณ 900 คน ก่อตั้งเมื่อปี 2557 หลังยูเครนสูญเสียคาบสมุทรไครเมีย และเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดโดเนตสก์และลูฮานสก์ มีผู้นำคือนายอันเดรย์บิเลตสกี วัย 42 ปี ซึ่งเดิมทีเป็นผู้นำกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่ก่อเหตุทำร้ายทางเชื้อชาติหลายต่อหลายครั้ง

การสู้รบในดอนบาสเมื่อ 8 ปีก่อน กองทัพยูเครนจำเป็นต้องพึ่งพากองกำลังอาสา เนื่องด้วยเผชิญการสู้รบแบบไม่ทันตั้งตัว จึงทำให้กองพันอาซอฟได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยยูเครน-กลุ่มนายทุนโอลิกาช ในจำนวนนี้คือนายอิกอร์ โคโลมอยสกี เจ้าพ่อวงการพลังงานที่ต่อมากลายเป็นผู้ว่าเมืองนีโปร ภาคกลางยูเครน นายเซอร์เก ทารูตา มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งสหภาพอุตสาหกรรมดอนบาส อดีตผู้ว่าเมืองโดเนตสก์ และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

โฆษกกองพันอาซอฟเคยยอมรับว่า สมาชิกประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ มีแนวคิดนาซีอย่างชัดเจน ใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะ เขี้ยวหมาป่าหน่วยเอสเอสนาซีเยอรมนี ขณะที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เคยกล่าวหาว่า กองพันอาซอฟละเมิดสิทธิมนุษยชนสากล ใช้อาคารพลเรือนเป็นฐานที่มั่นในการสู้รบและใช้เป็นที่เก็บอาวุธ ก่อเหตุปล้นสะดม ข่มขืนและทรมานผู้ที่ถูกจับกุม แต่เรื่องเหล่านี้บิเลตสกีผู้ก่อตั้งกลุ่ม ที่ผันตัวไปเล่นการเมืองจนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจนถึงปี 2562 ได้ปฏิเสธ พร้อมระบุว่าจริงอยู่ที่ช่วงแรก มีสมาชิกที่ฝักใฝ่นาซี แต่กลุ่มพยายามปลีกตัวออก หันไปมุ่งเน้นความรักชาติแทน และที่ต่อสู้อยู่นี้คือการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

รัฐบาลสหรัฐฯเคยประกาศว่า จะไม่ให้การสนับสนุนกองพันอาซอฟเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนีโอนาซี แต่จากการล็อบบี้ของกระทรวงกลาโหมเพนตากอน ทำให้ยกเลิกการห้ามสนับสนุน เช่นเดียวกับ “เฟซบุ๊ก” ที่เคยจัดให้อาซอฟอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มคลั่งผิวขาวคลูคลักซ์แคลน แต่หลังเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย จึงอนุญาตให้ชื่นชมกองพันอาซอฟได้ในเรื่องการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตย ห้ามชื่นชมเรื่องการแสดงความเกลียดชัง ความรุนแรง

จากการเปิดเผยของบิเลตสกี กองพันอาซอฟในปัจจุบันมีนักรบกว่า 10,000 คน มีฐานที่มั่นในกรุงเคียฟ เมืองคาร์คิฟ เมืองนีโปร โดยเฉพาะในเมืองท่า “มาริอูโปล” ที่อาซอฟอ้างว่ามีสมาชิกอยู่ประมาณ 3,000 คน

ดังนั้น ประเมินได้หรือไม่ว่า การโอบล้อมถล่มกองพันอาซอฟ ที่ตั้งมั่นสู้ตายอยู่ในย่านอุตสาหกรรมอาซอฟสตาล เมืองมาริอูโปลคือ หนึ่งในภารกิจหลักที่รัสเซียต้องทำให้สำเร็จ เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าว เข้าข่ายทั้ง “ลดกำลังทหาร” และ “ขจัดนาซี” ไปพร้อมๆกัน.

วีรพจน์ อินทรพันธ์