กลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในแวดวงความมั่นคงอีกครั้ง หลังกองทัพอากาศไทยแสดงความสนใจที่จะอัปเกรดฝูงบิน ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินรบอเนกประสงค์รุ่น “F-35” จากค่ายสหรัฐอเมริกาแม้กระบวนการสั่งซื้อจะกินเวลาหลายปี แต่ถ้าโครงการเดินหน้าจริงๆ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นชาติที่ 2 ของอาเซียน ที่ครอบครองฝูงบินสมรรถนะสูงดังกล่าว ต่อจาก “สิงคโปร์” (ที่ซื้อเฟสแรก 4 ลำมีกำหนดส่งมอบปี 2569) ทั้งจะส่งผลให้ดุลยภาพความมั่นคงของอาเซียนเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะไทยจะมีศักยภาพในการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวเพิ่มขึ้นมา จากแต่เดิมที่จะโดดเด่นในเรื่องศักยภาพการตั้งรับ-ป้องกัน

ทั้งนี้ โครงการเอฟ-35 เริ่มต้นย้อนไปตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้ชื่อโครงการจัดหาเครื่องบินจู่โจมร่วม (Joint Strike Fighter) เฟ้นหาเครื่องบินรบที่มีความ “อเนกประสงค์” เป็นได้ทั้งเครื่องบินขับไล่เข้าต่อกรกับฝูงบินข้าศึก เครื่องบินที่รับมือข้าศึกทางอากาศและบกพร้อมๆกัน และเครื่องบินสนับสนุนการรบภาคพื้นดิน เพื่อนำมาใช้แทนบินรบรุ่นเก่าของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร อาทิ “เอฟ-16” (ฝูงบินสำคัญของไทย) “เอฟ-18” (ที่ไทยเกือบได้ซื้อ) หรือเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง “แฮริเออร์” (ที่เคยประจำบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร)

เอฟ-35 เริ่มทดสอบบินครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2549 ยืดยาวมาถึงเดือน ก.ค.2558 จึงเริ่มแตกไลน์การผลิตกลายเป็น 3 รุ่น คือ “เอฟ-35 เอ” สำหรับบินขึ้นลงรันเวย์สนามบินแบบเครื่องบินทั่วไป “เอฟ-35บี” สำหรับบินขึ้นลงทางดิ่งแต่มีความจุน้ำมันน้อยกว่า และ “เอฟ-35ซี” สำหรับปฏิบัติการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น (สำหรับรุ่นเอที่เราสนใจ) ประมาณลำละ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 4,930 ล้านบาท

...

จากข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต “ล็อคฮีด มาร์ติน” สหรัฐฯ ระบุว่าเอฟ-35 ทยอยเข้าประจำการในหน่วยต่างๆของสหรัฐฯ ไม่ว่าทัพอากาศ ทัพเรือ และนาวิกโยธิน มีหุ้นส่วนชาติพันธมิตรที่ร่วมลงทุนหรือเริ่มนำเข้าประจำการ ทั้งสหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไปจนถึงมีประเทศที่ได้รับ “ไฟเขียว” อนุมัติให้ซื้อผ่านโครงการขายอาวุธแก่ต่างชาติ อย่างอิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เบลเยียม โปแลนด์ สิงคโปร์

โดยมี “อิสราเอล” เป็นประเทศแรกที่นำออกปฏิบัติการจริงในปี 2561 นสพ.อัลจาริดาคูเวต อ้างว่าเครื่องเอฟ-35 อิสราเอลอย่างน้อย 3 ลำ ทดสอบบินไปยังกรุงเตหะรานของ “อิหร่าน” เพื่อทดสอบความสามารถ “การพรางเรดาร์” (สเตลธ์) ดูว่าชาติคู่อริจะตรวจจับได้หรือไม่ ก่อนออกใช้ในปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายทางการทหารของอิหร่านภายในประเทศอิรัก ไปจนถึงโจมตีกองกำลังติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา ส่วนสหรัฐฯเองก็เริ่มนำออกปฏิบัติการในช่วงปลายปีเดียวกัน โจมตีกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน และกองกำลังรัฐอิสลามไอเอสในอิรัก

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์เอฟ-35 ก็เป็นที่ลือลั่นในแวดวงความมั่นคงว่าเป็นโครงการ “เจ้าปัญหา” ในระดับที่ พล.อ.อ.ชาร์ลส์ คิว. บราวน์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯยอมรับว่า “ล้มเหลว” ที่จะบรรลุเป้าหมาย เนื่องด้วยสหรัฐฯต้องการเครื่องบินที่มาทดแทนฝูงบินเก่าทั้งหมด โดยเป็นเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์รบ และมีราคาประหยัด ลดปัญหาการซ่อมบำรุง แต่ผลปรากฏว่าได้รถสปอร์ตเฟอร์รารี แทนที่จะได้รถเอสยูวี จนสุดท้ายหน่วยรบต่างๆก็ต้องต่ออายุการใช้งานฝูงบินเก่าอย่างเอฟ-15 เอฟ-16 ไปจนถึงเครื่องโจมตีภาคพื้นดิน เอ-10

สื่อความมั่นคงสหรัฐฯ หลายสำนักยังระบุด้วยว่า ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการเอฟ-35 เผชิญกับปัญหาทางด้านเทคนิคมากมาย ไล่ตั้งแต่ปัญหาซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาระบบออกซิเจนนักบินขาดช่วง ปัญหาตัวโครงแตกตอนยิงปืนกล (พวกนี้แก้ไขแล้ว) ปัญหาความคงทนของอะไหล่ (ใบพัดในเครื่องยนต์ไอพ่นปริ ต้องเปลี่ยนบ่อย) ไม่รวมถึงเรื่องปัญหาการผลิตที่ทำให้ฝูงบินเอฟ-35 ของสหรัฐฯ ทั่วโลก ขาดอะไหล่ซ่อมบำรุง มีเครื่องบินที่ไม่สามารถออกปฏิบัติการได้ในอัตราส่วนประมาณ 1 ใน 7 ขณะที่การประมาณการค่าใช้จ่ายการบิน ก็อยู่ที่ 44,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.49 ล้านบาทต่อการบิน 1 ชั่วโมง ซึ่งทางบริษัทล็อคฮีดเคยรับปากว่าจะพยายามกดให้เหลือ 25,000 ดอลลาร์ หรือราว 850,000 บาทต่อการบิน 1 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ไปจนถึงเรื่อง “สารเคลือบพรางเรดาร์” รอบตัวเครื่อง มีปัญหาสึกกร่อนเมื่อเจอสภาพ “อากาศร้อนชื้น” ต่อเนื่อง

แน่นอนว่าการจัดซื้อเครื่องบินรบอเนก ประสงค์รุ่นใหม่ ย่อม “คุ้มค่า” การตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ที่แต่ละประเทศต่างเสริมศักยภาพของกองทัพตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีแหล่งข่าวความมั่นคงเล่าให้ฟังว่า เครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าเก็บของเราอย่าง “เอฟ-5 ไทเกอร์” จะมีปัญหา “มวยคนละรุ่น” เมื่อเผชิญกับเครื่องรุ่นใหม่ของชาติอื่นๆในภูมิภาค โดยเฉพาะระยะหลังที่ทั้ง “เมียนมา” “เวียดนาม” “มาเลเซีย” “อินโดนีเซีย” ต่างครอบครองบินรบอเนก ประสงค์ “ซูคอย-30” จากค่ายรัสเซีย ที่มีขีดความสามารถสูงในการ “ครองเวหา” มีระยะตรวจจับด้วยเรดาร์ไกลกว่า มีจรวดต่อต้านที่ไกลกว่า แถมมีระยะเวลาอยู่บนฟ้าไม่ต้องลงจอดเติมน้ำมันนานกว่า

...

แต่สิ่งที่จะตามมาควบคู่กันไปคือค่าใช้จ่ายผูกพันในการซ่อมบำรุง ที่ดูแล้วอาจมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งงานนี้คงต้องถามตัวเองแล้วว่ารองรับกันไหวหรือไม่ ส่วนที่ว่า “อเมริกา” จะขายให้ “ไทย” หรือเปล่านั้นไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร ของซื้อของขาย เจรจาเงื่อนไขกันได้เสมอ.

วีรพจน์ อินทรพันธ์