แนวทางการทำธุรกิจสตาร์ตอัพของนายไฮเม เฟอร์เรอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BiomiTech ในเม็กซิโก ซึ่งประดิษฐ์ต้นไม้เทียมที่เรียกว่า “BioUrban” สามารถดูดซับมลภาวะอากาศเป็นพิษได้มากเท่ากับต้นไม้จริง 368 ต้น เทียบเท่าผืนป่า 6.3 ไร่ เท่ากับการหายใจแต่ละวัน 2,890 คน

ด้วยเทคโนโลยีโครงสร้างหอคอยโลหะใช้ “สาหร่ายขนาดเล็ก” ที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง และสารเคมีอื่นๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศแล้วคายออกมาเป็นก๊าซออกซิเจนกลับคืนสู่สภาพแวดล้อมเหมือนต้นไม้ทั่วไป และด้วยขนาดความสูง 4.2 ม. กว้างเกือบ 3 ม. หนักราว 1 ตัน ดูแล้วเหมือนผสมผสานระหว่างต้นไม้กับตึกระฟ้าแนวโพสต์โมเดิร์น

นับแต่การเปิดตัวเมื่อปี 2559 BiomiTech ปลูกติดตั้งต้นไม้เทียมนี้ไปแล้ว 3 จุด โดยหนึ่งแห่งที่เมืองปวยบลา ภาคกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท กับอีกหนึ่งแห่งที่ประเทศโคลอมเบีย และอีกแห่งที่ประเทศปานามา แล้วยังทำสัญญาเตรียมติดตั้งเพิ่มอีก 2 แห่งที่ตุรกี และมีโครงการติดตั้งที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ และเมืองมอนเตอร์เรย์ ภาคเหนือของประเทศ ต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยปกติจะอยู่ราว 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.54 ล้านบาท)

จากข้อมูลของทางองค์การอนามัยโลก WHO เผยว่า แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากการปล่อยมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน

ว่าไปโครงการนี้ก็คลับคล้ายกับของบริษัทแห่งหนึ่งในเยอรมนี ที่เปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 ในชื่อที่เรียกว่า “City Tree” เป็นต้นมอสเทียมขนาดยักษ์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันในการสังเคราะห์แสงทำความสะอาดอากาศรอบข้าง

อย่างไรก็ตาม นายเฟอร์เรอร์ก็ย้ำว่า ไอเดียการติดตั้ง BioUrban ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อทดแทนต้นไม้จริง แต่เป็นส่วนเสริมในพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ได้ยากลำบาก เช่น การจราจรคับคั่ง สถานีขนส่งสาธารณะ อาคารผู้โดยสาร แล้วระบบที่ตั้งขึ้นนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหามลภาวะทางอากาศในเม็กซิโก ซิตี้ให้หมดสิ้นไป เพียงแต่ช่วยบรรเทาปัญหาเท่านั้น...

...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ