อัฟกานิสถานถูกขนานนามว่า “สุสานแห่งจักรวรรดิ” เนื่องจากไม่มีมหาอำนาจใด เข้ายึดครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งประสบความปราชัยไปตามกาลเวลา

ไล่ตั้งแต่ยุคอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย-กรีซ เจงกิส ข่าน แห่งจักรวรรดิมองโกล ข้ามมาจนยุคโลกใหม่ จักรวรรดิอังกฤษ สหภาพโซเวียต ตามด้วยรายล่าสุดสหรัฐอเมริกากับกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตก ที่หลังจาก 20 ปีผ่านไป ก็ต้องประกาศยุติการทำสงคราม

โดยกำหนดถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 31 ส.ค. หรือ 1 เดือนนับจากวันนี้ แม้จะปรากฎภาพชัดเจนว่า กองกำลังติดอาวุธ “ตาลีบัน” ย่อมหวนคืนสู่อำนาจเหมือนอดีตที่ผ่านมา และความเป็นเสรีประชาธิปไตยที่นำมามอบแก่ประเทศอัฟกานิสถาน ย่อมถึงคราวสูญสลาย กลายเป็นรูปแบบอื่น

เพราะดูจากสถานการณ์สู้รบเพียงอย่างเดียวก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานกำลังอยู่ในช่วงนับถอยหลังรอความพ่ายแพ้ เมืองหลวงและอำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆเป็นของรัฐบาล แต่พื้นที่ที่เหลือในตอนนี้กำลังตกเป็นของกลุ่มตาลีบันไปทีละน้อย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ อำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆจะยื้อได้นานแค่ไหน ในเมื่อรัฐบาลส่งกำลังบำรุงไปจากเมืองหลวงแทบจะเป็นไปไม่ได้

แต่การขึ้นสู่อำนาจรอบใหม่ของกลุ่มตาลีบันครั้งนี้เหมือนจะเตรียมตัวมาดี เนื่องจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายกำหนดนโยบาย ได้ออกมาชี้แจงกลบเสียงกังวลของชาติตะวัน-ตกไว้แล้วล่วงหน้า ระบุชัดเจนว่า ตาลีบันพร้อมจะให้สิทธิแก่สตรีอย่างเต็มที่ สามารถเรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ หรือถึงขั้นลงสมัครเล่นการเมือง ขออย่างเดียวควรสวมผ้าคลุม ตามหลักศาสนาให้เรียบร้อย

...

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ หลังรัฐบาลจีนได้เชิญตัวแทนกลุ่มตาลีบันไปนั่งประชุมหารือกันที่เมืองเทียนจินของจีน และปรากฏภาพการยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ระหว่างนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน กับมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองตาลีบัน ซึ่งตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิเคราะห์ ตะวันตกบางส่วน ที่มองว่าการ “เลือกคบคน” ของจีนมีปัญหาหรือเปล่า และนี่หรือคือคำตอบของรัฐบาลจีน ในการสร้างสัมพันธ์บนเวทีระดับโลก?

อย่างไรก็ตาม การตีตราไม่ยอมรับกลุ่มตาลีบัน เนื่องด้วยขัดต่อแนวทางของชาติตะวันตก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์หลายๆอย่างลงเอยซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือไม่

และแนวทางที่กำลังเกิดขึ้นจากการเจรจาของจีน ซึ่งเลือกที่จะไม่ไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมาก ทั้งยังคล้ายๆกับแนวทาง “อาเซียน เวย์” ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน อาจจะนำไปสู่หนทางใหม่ๆที่แตกต่าง ออกไป

หลายปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า รัฐบาล จีนได้เพิ่มตัวตนในภูมิภาคเอเชียกลาง-เอเชียใต้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นไปตามแผนเมกะโปรเจกต์ “เบลต์ แอนด์ โรด” หรือที่เราจำกันได้ในนามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เชื่อมต่อเส้นทางการค้าทั่วทวีปเอเชียไปจนถึงยุโรป

ตั้งแต่ปี 2556 จีนได้มีการเจรจาช่องทางเศรษฐกิจ “ไชน่า-ปากีสถาน อีโคโนมิค คอร์ริดอร์” เช่นเดียวกับช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาของปีนี้ จีนทำการลงนามความร่วมมือ 25 ปี ด้านพลังงาน เศรษฐกิจ ความมั่นคง กับรัฐบาล “อิหร่าน” เท่ากับว่าจีนได้ทำการปักหมุดสร้างช่องทางสู่มหาสมุทรอินเดีย และภูมิภาคตะวันออกกลางไว้แล้วเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้น หากได้ช่องทาง “อัฟกานิสถาน” มาเพิ่มเติมอีก ก็จะเท่ากับว่า “ถนน” ของจีน จะขยายเข้าไปในเอเชียกลางมากขึ้นไปอีก

จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่พอมีข่าวสหรัฐฯและกลุ่มพันธมิตรตะวันตกดำเนินการถอนกำลังรบออกจากอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะการถอนทหารออกจากฐานทัพบากรัม หรือกวนตานาโมแห่งอัฟกานิสถาน ชานกรุงคาบูล ก็มีข่าวตามมาทันที กลุ่มตาลีบันให้สัมภาษณ์ว่า จีนคือ “เพื่อน” และเรายินดีที่จะต้อนรับเพื่อนเข้ามาลงทุนในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐาน และฟื้นฟูประเทศ

พร้อมให้การรับรองเป็นมั่นเหมาะ ในเรื่องการรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ชาวจีนที่จะเข้ามาในอัฟกานิสถาน พ่วงด้วยผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงอีกทอด คือกลุ่มตาลีบันจะไม่ยอมให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนแนวคิดแบ่งแยกดินแดนในมณฑล “ซินเจียง” เข้ามาใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานดำเนินการแต่อย่างใด

ในการประชุมที่เมืองเทียนจิน รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวต่อกลุ่มตาลีบันว่า จีนเคารพอธิปไตย เอกราช และความเป็นปึกแผ่น และยึดมั่นต่อหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอัฟกานิสถาน ทิศทางของอัฟกานิสถานควรกำหนดด้วยชาวอัฟกานิสถาน พร้อมคาดหวังว่ากลุ่มตาลีบันจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ ปรองดองและฟื้นฟูชาติอัฟกานิสถาน

จุดยืนดังกล่าวจะส่งผลลัพธ์เช่นไรในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่งครับ เพราะมันจะนำไปสู่การ “เปรียบเทียบ” กันอีก ว่าวิธีของอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ใครดีกว่าใคร.

วีรพจน์ อินทรพันธ์