แม้สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์รอบใหม่ จะมีบทสรุปเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา คือหยุดยิง และฟื้นฟูความเสียหาย
แต่ตราบใดที่ปัจจัยเดิมๆยังอยู่ ก็คงหนีไม่พ้นที่ต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ร่ำไป โดยโอกาสนี้ไทยรัฐได้รับเกียรติจาก “ดร.เมเอียร์ ชโลโม” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย อธิบายถึงตัวละครสำคัญ ที่เผชิญหน้าอย่างดุเดือดกับอิสราเอล นั่นคือกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่ม “ฮามาส”
“ในข้อเท็จจริง ฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย ที่สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และอีกหลายประเทศขึ้นบัญชี และ
เช่นเดียวกับการกระทำของรัฐอิสลามกลุ่มไอซิส ฮามาสใช้กำลังยึดอำนาจในฉนวนกาซาเมื่อปี 2550 กวาดล้างสังหารเจ้าหน้าที่เขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ จนไม่มีผู้นำคนใดของเขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ กล้าเข้าไปในฉนวนกาซาอีกนับแต่นั้น”
ฮามาสก็เหมือนกับกลุ่มไอซิส ที่ไม่ลำบากใจในการใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ และมีอุดมการณ์สุดโต่ง เขียนไว้อย่างละเอียดในธรรมนูญฮามาส “Hamas Covenant” ที่หาอ่านได้ในกูเกิล การแก้ไขความขัดแย้งคือทำลายล้างคู่ต่อสู้ให้สิ้นซากเท่านั้น ในกรณีของฮามาสหมายถึง การทำลายล้างประเทศอิสราเอล ซึ่งในอดีตฮามาสได้ระเบิดบ้านเรือน โรงแรม ภัตตาคาร สถานบันเทิงและอื่นๆในอิสราเอล ด้วยอาวุธทำลายล้างสูง “ระเบิดพลีชีพ”

...
แต่จากการป้องกันด้วยการที่เราปิดพรมแดน จึงมีการเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการยิงจรวดโจมตีเมืองต่างๆของอิสราเอล เพื่อสังหารประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องน่าสลดใจที่การโจมตีอย่างไม่เจาะจงของ ฮามาส ได้คร่าชีวิตแรงงานไทยถึง 2 คน และอีก 8 คนได้รับบาดเจ็บเมื่อ 18 พ.ค. และนั่นเป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่งของการเข่นฆ่าอย่างไร้เหตุผลของกลุ่มฮามาส
ในระหว่างการโจมตีช่วง 7 วันที่ผ่านมา ฮามาสยิงจรวดมายังเมืองต่างๆของอิสราเอลไม่ต่ำกว่า 3,400 ลูก ทว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เกิดความผิดพลาดตกลงในกาซา ชาวปาเลสไตน์ล้มตายเป็นจำนวนมากด้วย
ท่านทูตชโลโมถามกลับ หากมีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีกรุงเทพฯด้วยจรวด 1–2 ลูก หรือ 3,400 ลูก อยากเห็นรัฐบาลดูดายไม่ทำอะไรเชียวหรือ จะแนะรัฐบาลไม่ให้ตอบโต้ไหม ไม่ต้องปกป้องท่านและครอบครัว จากการระดมยิงจรวดที่ทุกลูกมีเป้าหมายเพื่อสังหารท่าน นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โปรดบอกหน่อยว่า มีประเทศใดในโลก ที่จะไม่ตอบโต้ต่อการกระทำอันเลวร้ายโหดเหี้ยมเช่นนี้
เราอิสราเอลตอบกลับการระดมยิง ด้วยการโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหารของฮามาส อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มากกว่านั้น ก่อนการโจมตี อาคารเป้าหมาย ที่มีการยืนยันว่าเป็นคลังอาวุธหรือเส้นทางลำเลียงทางการทหารของฮามาส กองทัพอิสราเอลจะติดต่อผู้อยู่ในอาคารทั้งทางโทรศัพท์และส่งข้อความ เพื่อเตือนและให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีเวลาอพยพออกมาได้ทันเวลา
ธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกว่า “เคาะหลังคา” ดังกล่าวนี้ ไม่มีกองทัพใดในโลกยึดปฏิบัติกัน แต่ก็เป็นเรื่องน่าสลดใจที่ว่าแม้ว่าเราได้พยายามแล้วก็ตาม แต่ก็มีหลายครั้งที่ฮามาสกลับใช้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นโล่มนุษย์ ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต

ในฐานะชาวอิสราเอล ผมเจ็บปวดต่อการสูญเสียแต่ละชีวิตของพลเรือน ไม่ว่าชาวอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ แต่อิสราเอลกับฮามาสเปรียบเทียบกันไม่ได้ ความพยายามที่จะนำมาเปรียบกันไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ทั้งสภาพความเป็นจริง กฎหมาย ศีลธรรม หรือสติปัญญา ผมเห็นว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง
เป้าหมายของฮามาสคือพลเรือน เป้าหมายของอิสราเอลคือผู้ก่อการร้าย ฮามาสทำทุกวิถีทางที่จะสังหารพลเรือนให้ได้มากขึ้น อิสราเอลระมัดระวังอย่างที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียบาดเจ็บของพลเรือน ฮามาสเห็นการตายของชาวอิสราเอลเป็นชัยชนะ อิสราเอลเห็นว่าทุกชีวิตที่สูญเสียเป็นเรื่องเศร้าสลดใจ ฮามาสใช้เด็กเป็นเครื่องป้องกันจรวด ในทางตรงข้ามอิสราเอลใช้ “ไอเอิร์น โดม” ปกป้องลูกๆของเรา
สำหรับการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และความฝันที่จะมีประเทศนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงต่อการสนับสนุน
ฮามาส เพราะการหนุนฮามาสมีแต่จะนำไปสู่ความสำเร็จของกลยุทธ์อันโหดเหี้ยม ทั้งเสริมกำลังกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลสายกลางของปาเลสไตน์อ่อนแอลง ทำลายโอกาสของการเจรจา หากเลือกที่จะเลี่ยงประณามฮามาส ก็จะส่งผลให้วงจรของความรุนแรงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทั้งสูญเสียโอกาสที่จะสร้างสันติภาพ
...
เวลานี้นับเป็นโอกาสดี ที่ประชาคมโลกจะเลิกยอมรับกลยุทธ์ของฮามาส ที่ใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ และซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ร้ายแรงไว้ตามโรงเรียน โรงพยาบาล และอาคารสูง
“ในทางกลับกัน การแผ้วถางทางสู่สันติภาพจะกระทำได้ ก็ด้วยการยื่นคำขาดให้ฉนวนกาซาเป็นเขตปลอดทหาร และยืนกรานให้ทางการกาซาทุ่มงบประมาณไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน แทนที่จะนำมาใช้เพื่อทำลายล้างประเทศอิสราเอล” ท่านทูตชโลโมกล่าวทิ้งท้าย.
วีรพจน์ อินทรพันธ์