บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 เข้าร่วมการประชุมจี 7 ครั้งย่อยที่กรุงลอนดอน ของอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 3-5 พ.ค. โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยมีวาระครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ แนวทางยกระดับสุขภาพอนามัยทั่วโลก ไปจนถึงเสรีภาพสื่อ และการจัดการกับการบิดเบือนข้อมูล อังกฤษในฐานะประธานกลุ่มหวังว่าการประชุมจี 7 ครั้งย่อยนี้จะช่วยให้มีความคืบหน้าในเป้าหมายในการร่วมฟื้นฟูโลกหลังการระบาดของโควิด-19 ก่อนถึงการประชุมผู้นำจี 7 ที่คอร์นวอลล์ ของอังกฤษ ในเดือน มิ.ย.นี้

โดยนายโดมินิค ราบ รมว.ต่างประเทศและการพัฒนาของอังกฤษ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็น “โกลบอลบริเทน” ที่อังกฤษนำเอาบรรดาผู้นำโลกประชาธิปไตยมารวมตัวกันเพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาต่างๆร่วมกัน พร้อมย้ำจะดำเนินการเพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม เพิ่มการศึกษาของเด็กผู้หญิงทั่วโลก หาข้อตกลงในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาความอดอยาก” นอกจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ อย่าง แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป แล้ว ที่ประชุมยังเชิญออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรกในฐานะแขกรับเชิญ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่อังกฤษมุ่งกระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ใน

วันเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงระหว่างการประชุมนอกกรอบ จี 7 ร่วมกับนายโทชิมิตสุ โมเตกิ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น โดยเผยว่าหวังว่าเกาหลีเหนือจะใช้โอกาสร่วมมือทางการทูตเพื่อดูว่ามีหนทางปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่ หลังไม่กี่วันก่อนหน้าที่เกาหลีเหนือประกาศว่า คำแถลงการณ์ใดๆ ของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเป็นนโยบายเชิงปรปักษ์ อย่างไรก็ตาม นายจาง จุน เอกอัครราชทูตถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้แสดงความเห็นว่าสหรัฐฯ ควรเจรจามากกว่ากดดันเกาหลีเหนือ เพราะจากหลายปีที่ผ่านมา จีนเชื่อว่าความพยายามทางการทูตเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะอดทนต่อการยั่วยุ แล้วพยายามหันกลับมาสู่หนทางการเจรจา.

...