• ขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนประสบปัญหาโควิด-19 เวียดนามเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในสถานการณ์โลกและภูมิภาคนี้ที่เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ได้ดี และมีความเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้เวียดนามสามารถรักษาความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
  • คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตมากถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ จัดได้ว่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย

ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนประสบกับภาวะถดถอยกันทั่วหน้า อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคร้ายโควิด-19 และบางประเทศถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางการเมืองภายใน แต่เวียดนามกลับกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในสถานการณ์โลกและภูมิภาคนี้เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่

รายงานเศรษฐกิจประจำปี 2021 ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศจะอยู่ในภาวะติดลบ แต่เวียดนามกลับมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ถึง 2.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2020 และคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตมากถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ จัดได้ว่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งคู่จะอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียทำนายอีกว่า ในปี 2022 เวียดนามจะยังมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเหมือนเดิม

ปัจจัยหลักที่ทำให้เวียดนามสามารถรักษาความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2020 ซึ่งเป็นวันที่ยืนยันเคสแรก จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2021 ทางการเวียดนามยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,942 คน ชีวิต 35 ราย แม้ว่าการกระจายวัคซีนจะยังอยู่ในระดับต่ำอยู่มาก จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2021 เวียดนามฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 129,583 โดส (เวียดนามมีประชากรทั้งสิ้น 98 ล้านคน)

กลจักรทางเศรษฐกิจที่ขับดันความเติบโตของเวียดนามมาจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออก เครื่องยนต์ทั้งสามตัวของเวียดนามออกตัวแรงตั้งแต่ต้นปี ไตรมาสแรกของปีนี้ ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมของเวียดนามเติบโตถึง 6.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

การที่เวียดนามควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความมั่นใจ ประกอบกับเพิ่งมีการผ่านกฎหมายลงทุนฉบับใหม่เมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา ลดระเบียบหยุมหยิมและลดขั้นตอนอนุมัติการลงทุน ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียรายงานว่า มีนักลงทุนจากต่างประเทศขออนุมัติการลงทุนเพิ่มขึ้น 17.8 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่หนุนส่งเศรษฐกิจของเวียดนามให้เติบโตมากขึ้น คือเรื่องการค้าต่างประเทศ เพราะเวียดนามได้อานิสงส์จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วของคู่ค้าสำคัญสองประเทศ คือจีนและสหรัฐฯ

สำคัญที่สุดที่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงในที่นี้คือ ประโยชน์จากความตกลงทางเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการค้าเสรีทั้ง 15 ฉบับที่เวียดนามได้ลงนามเอาไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งเวียดนามเป็นประธานอาเซียนพอดี

และเวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติอาเซียนที่ร่วมลงนาม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ตั้งแต่ปี 2016

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แม้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ทำให้ผู้นำเวียดนามมีความมั่นใจในศักยภาพของประเทศ และแสวงหาบทบาทนำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ว่าที่จริงแล้ว เวียดนามมีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศที่คงเส้นคงวามากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฟ่าม มิญ จิ๋ญ (Pham Minh Chinh) แต่เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงเป็น เหวียนฝู จ่อง เช่นเดิม

เวียดนามกำหนดนโยบายต่างประเทศแบบรอบทิศ มีความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจทุกฝ่าย แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะขัดแย้งและแข่งขันกันก็ตาม เวียดนามพยายามรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน

ในรายงานการเมืองที่อนุมัติโดยสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญลำดับต้น ในเรื่องกิจการต่างประเทศเอาไว้ 4 ด้าน คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพของความสัมพันธ์ต่างประเทศ 2. ดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก 3. ส่งเสริมการทูตแบบพหุภาคี และ 4. ความรับผิดชอบด้านต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีจิ๋ญได้เริ่มต้นดำเนินนโยบายต่างประเทศตามทิศทางที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้กำหนดเอาไว้ข้างต้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน เมื่อผู้นำอาเซียนได้มีโอกาสประชุมกันเป็นสมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือและกำหนดท่าทีเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในพม่า

แม้จะไม่ได้เสนอประเด็นอะไรเป็นพิเศษ อาจจะเป็นเพราะยังไม่จัดเจนเวทีเท่าใดนัก แต่การที่นายกรัฐมนตรีของเวียดนามไปปรากฏตัวในที่ประชุม ในขณะที่ผู้นำบางประเทศ เช่น ไทย ลาว และฟิลิปปินส์ ไม่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ก็แสดงออกถึงการให้ความสำคัญ และถือเป็นความรับผิดชอบด้านต่างประเทศ ในปัญหาซึ่งนับเป็นวิกฤติของภูมิภาคและกลุ่มอาเซียนโดยรวม

ที่สำคัญเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีจิ๋ญได้แนะนำตัวในฐานะผู้นำคนใหม่ของรัฐบาลเวียดนาม และแสดงจุดยืนร่วมกับผู้นำแถวหน้าของอาเซียนในการแสวงหาทางออกโดยสันติให้กับปัญหาวิกฤตการณ์ของพม่า แม้จะไม่ได้มีความโดดเด่นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเวียดนามก็กล้าหาญมากพอที่จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอด ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสมาชิกอาเซียน เรียกร้องให้พม่ายุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน

และมาถึงจุดนี้ก็คงไม่ต้องบอกว่า แนวทางของเวียดนามหรือพม่าให้ผลดีต่อการพัฒนาประเทศมากกว่ากัน เมื่อรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย ทำให้เศรษฐกิจของพม่าติดลบถึง 9.8 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ทั้งๆ ที่ปี 2020 เติบโตถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์.

...