• รัสเซียซึ่งอ้างตัวว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จ กลับมีอัตราฉีดวัคซีนที่ต่ำ เนื่องจากพลเมืองรัสเซียไม่เชื่อมั่นในวัคซีนของตัวเอง
  • ทางการรัสเซียต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีน ทั้งการแจกคูปอง และแจกเงินให้แก่ผู้สูงอายุที่รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผล
  • แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ ลง และประกาศว่าสามารถรับมือกับการระบาดได้แล้ว แต่กลับพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงมีไม่ต่ำกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตราว 300-400 คนต่อวัน

รัสเซียเคยประกาศตัวว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จตั้งแต่ต้นปี 2020 แต่ดูเหมือนว่าประชาชนจะยังไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตขึ้นเอง เห็นได้จากอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยมีประชาชนชาวรัสเซียเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส ขณะที่สหรัฐฯ ประชากรราว 43 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส และสหภาพยุโรป ประชากรเกือบ 27 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้ว


การที่ประชากรชาวรัสเซียยังคงไม่อยากเข้ารับวัคซีน ทำให้รัสเซียมีจำนวนผู้ที่รับวัคซีนตามหลังอีกหลายชาติที่ไม่ได้มีวัคซีนเป็นของตัวเอง และสร้างความกังวลว่าทางการอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรมากกว่า 30 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดกว่า 144 ล้านคนภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้ และตั้งเป้าให้ได้เกือบ 69 ล้านคนภายในเดือนสิงหาคม

ปัจจุบันนี้รัสเซียมีการเปิดให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปสามารถไปรับวัคซีนต้านโควิดได้ โดยมีบริการจุดฉีดวัคซีนของรัฐมากกว่า 200 จุด รวมทั้งคลินิกเอกชน ห้างสรรพสินค้า ฟู้ดคอร์ท โรงพยาบาล แม้กระทั่งในโรงภาพยนตร์

...

ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวมอสโกราว 1 ล้านคน จากทั้งหมด 12.7 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดอย่างน้อย 1 โดส ทั้งๆ ที่เริ่มรณรงค์การฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งไม่แตกต่างจากภาพรวมของชาวรัสเซียทั้งประเทศ ที่จนถึงวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา มีประชาชนราว 12.1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส และมีเพียง 7.7 ล้านคน หรือราว 5 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนแบบเต็มรูปแบบ


อเล็กซานเดอร์ ดรากอน นักวิเคราะห์ข้อมูลที่ติดตามจากฉีดวัคซีนทั่วรัสเซีย ระบุว่า สัปดาห์ที่แล้ว รัสเซีย ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 200,000-205,000 คนต่อวัน ซึ่งหากจะทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ทางการต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้อีกเท่าตัว

ในขณะนี้ทางการมอสโกได้จูงใจให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีน ด้วยการเสนอให้คูปองดิจิทัลมูลค่า 1,000 รูเบิล หรือราว 400 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อย หากเทียบกับเบี้ยผู้สูงอายุที่รัฐจ่ายให้ 20,000 รูเบิลต่อเดือนหรือราว 8,100 บาท แต่มาตรการดังกล่าวก็ดูจะไม่ช่วยอะไรมากนัก เนื่องจากผู้สูงอายุเห็นว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะลงทะเบียนรับคูปองดิจิทัล หรือจะหาร้านค้าที่รับคูปองเหล่านั้น 

ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ของรัสเซียต่างก็หาวิธีจูงใจให้ประชาชนหันมารับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการแจกเงินราว 400-800 บาท แลกกับการรับวัคซีน ขณะที่โรงภาพยนตร์บางแห่งยังเสนอส่วนลดพิเศษให้กับผู้ที่มีใบรับรองว่ารับวัคซีนแล้วอีกด้วย

นอกจากนี้สื่อต่างๆ ของรัสเซียก็พยายามโปรโมตการฉีดวัคซีนโดยให้ดาราที่มีชื่อเสียงมาบอกเล่าประสบการณ์การฉีดวัคซีนของพวกเขา แต่ไม่มีการโชว์ภาพขณะที่พวกเขาฉีด เช่นเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ระบุว่าเขาได้รับวัคซีนแล้วเช่นกัน แต่ไม่มีการบันทึกภาพไว้ 

...

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวรัสเซียไม่สมัครใจที่จะฉีดวัคซีนของสปุตนิก วี เนื่องจากวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบความปลอดภัยอยู่ แม้ว่าจะเคยมีการตีพิมพ์ผลการทดลองจากกลุ่มตัวอย่างชาวรัสเซีย จำนวน 20,000 คน ในวารสารการแพทย์ แลนเซ็ทของอังกฤษที่ระบุว่า วัคซีนสปุตนิก วี มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ก็ตาม โดยผลโพลที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เต็มใจจะใช้วัคซีนสปุตนิก วี ของรัสเซีย

ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้สถานการณ์การระบาดในรัสเซียจะยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่การที่ภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ไปแล้ว และประกาศว่าสามารถรับมือกับการระบาดได้เป็นอย่างดี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ชาวรัสเซียละเลย และไม่สนใจกับการรับวัคซีนอีกต่อไป

โดยจนถึงขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อในรัสเซียยังคงเพิ่มขึ้นราว 8,000-9,000 คนต่อวัน และยังมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 300-400 ศพต่อวัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเกิดจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังไม่มากพอ.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล