การเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาทางการค้าที่จะตามมาหลังสหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรือที่เรียกว่า “เบร็กซิต” ยังไม่ได้ข้อตกลงที่สามารถยินยอมกันได้ จนทีมเจรจาของอังกฤษต้องบินด่วน ไปยังกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เพื่อหารือกับตัวแทนของยุโรปโดยตรงในวันที่ 7 ธ.ค. ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การเดินทางไปเจรจาครั้งนี้ อาจเปรียบเสมือนการเดิมพันทอยลูกเต๋าครั้งสุดท้ายของอังกฤษ
ก่อนหน้าการเจรจาโดยตรง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้สนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลากว่าชั่วโมงกับนางเออร์ซูลา วอน เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความยินดีที่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยในประเด็นหลายๆด้าน แต่สุดท้ายก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปในเรื่องสำคัญ ขณะที่ทีมเจรจาของอังกฤษและอียูยังระบุด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกันเกินไป และผู้สื่อข่าวบีบีซีอังกฤษมองว่าค่อนข้างชัดเจนว่า ข้อตกลงการค้าที่อังกฤษหวังไว้ ได้กลายเป็นเรื่องที่เอื้อมไม่ถึงแล้ว และหากไม่มีใครยอมถอยในการเจรจา 2-3 วันข้างหน้า ก็จะทำให้ข้อตกลงการค้าไม่มีวันเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา และมีเวลาเปลี่ยนผ่านที่ต้องเจรจากฎระเบียบ และข้อตกลงต่างๆให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แม้ว่าข้อตกลงการค้าเสรีที่อังกฤษต้องการเจรจากับยุโรปในขณะนี้ ไม่ได้มีเงื่อนไขที่สร้างความได้เปรียบแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกินไป แต่สหภาพยุโรปมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ต้องการให้อังกฤษปฏิบัติตามระเบียบของยุโรปให้มากที่สุดไม่ว่าเรื่องสิทธิแรงงาน ระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม หรือมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนของรัฐ ส่วนอังกฤษมีจุดยืนคือ ต้องการเป็นอิสระจากกฎระเบียบต่างๆของอียู
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นประเด็นร้อนคือเรื่องการทำประมง โดยยุโรปต้องการสิทธิเต็มที่ในการเข้าถึงน่านน้ำของสหราชอาณาจักรต่อไปได้ ขณะที่อังกฤษต้องการให้ความสำคัญแก่ประมงของตัวเอง เพราะถือว่าแยกตัวออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในจุดนี้ยุโรปมีเงื่อนไขว่า หากอังกฤษไม่ให้สิทธิเหนือน่านน้ำ สินค้าด้านประมงของอังกฤษก็จะไม่สามารถเข้าถึงตลาดของยุโรปได้อย่างเต็มรูปแบบ และแม้ว่าอุตสาหกรรมการประมงจะมีสัดส่วนไม่มากในภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้สหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป.
...