• สื่อต่างชาติจับตาการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดของไทยในรอบ 6 ปี เรียกร้องปฏิรูปประชาธิปไตย
  • กลุ่มผู้ประท้วงในไทยยื่นข้อเรียกร้องใหม่ 3 ข้อ ให้นายกฯ ยุบรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน
  • ชี้ม็อบ 19 กันยา จากเยาวชนจุดพลเมืองทุกชนชั้นไม่พอใจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุมนุมประท้วงใหญ่

สำนักข่าวอัลจาซีรา สื่อภาษาอังกฤษจากโลกอาหรับ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงโดฮาร์ เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ ถือเป็นหนึ่งในสื่อต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียมาโดยตลอด เกาะติดการประท้วงที่บริเวณท้องสนามหลวง ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมคาดหวังจะให้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดในประเทศไทย ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557

ชูธงเรียกร้องปฏิรูประชาธิปไตย

อัลจาซีรา รายงาน ‘ม็อบ19 ก.ย.’ กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมายาวนานในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย ก่อนจะย้ายการชุมนุมประท้วงไปที่ท้องสนามหลวง

...

สื่อจากโลกอาหรับ ชี้กลุ่มผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโครงสร้างอำนาจในประเทศไทย 3 ข้อ คือ 1 การยุบสภา 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลุ่มผู้ประท้วงเชื่อว่าร่างโดยทหาร และ 3 การหยุดคุกคามประชาชน รวมทั้งการปฏิรูปสถาบัน โดยผู้ประท้วงเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปีก่อน หลังจากถูกกองทัพยึดอำนาจบริหารประเทศมายาวนั้น เป็นการเลือกตั้งเพื่อทำให้พลเอกประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยต่อไป

ตามความเห็นของผู้ประท้วงมองว่า การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์นั้นได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้รับการสนับสนุนจากพรรคเล็กหลายพรรค ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุนกองทัพ ก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งตามมาเป็นอันดับ 2 โดยภายหลังการก่อรัฐประหารโดยมีพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองแล้ว ได้‘ฉีก’รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2550 โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 ที่นั่ง ที่เห็นชอบกับการสรรหานายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตย ในม็อบ19 ก.ย.
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตย ในม็อบ19 ก.ย.

เยาวชน ‘จุด’ พลเมืองทุกชนชั้นไม่พอใจ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ชุมนุมต้าน รบ.

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของม็อบเยาวชนในไทยได้เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไทยมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เศรษฐีที่มีเสน่ห์ในการดึงดูดผู้คน และพรรคอนาคตใหม่ยังได้รับความนิยมจากชาวไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จนทำให้คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562

อัลจาซีรา ชี้ว่าการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ซึ่งเริ่มขึ้นโดยเยาวชนนิสิตนักศึกษา ได้มีการเติบโตขยายวงกว้างมากขึ้น ไปยังพลเมืองทุกกลุ่มอายุ และทุกชนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจ และเชื้อชาติ ท่ามกลางความไม่พอใจกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่กำลังกว้างมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่มีม็อบนักศึกษาเกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน ได้มีแกนนำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 28 คนถูกจับกุมในหลายข้อหา

...

ชุมนุมครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ปี 57

สำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ คาดประมาณมีประชาชนมาร่วม ‘ชุมนุม 19 กันยา’ อย่างน้อย 30,000 คน ในขณะที่แกนนำจัดการชุมุนุมบอกว่า มีคนมากกว่า 50,000 คน มาร่วมม็อบ 19 กันยา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีคนแค่เพียง 18,000 คน มาร่วมชุมนุม แต่ถึงอย่างไร ก็ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่สุดในไทย นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำก่อรัฐประหารในปี 2557

รอยเตอร์ ชี้ว่า ‘ม็อบ 19 กันยา’ ถือเป็นวันครบรอบ 14 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถูกทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ในปี 2549 ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมประท้วง จึงมีมวลชนคนเสื้อแดง มาร่วมชุมนุมด้วย

"วันนี้ประชาชนต้องการอำนาจของพวกเราคืนมา" อานนท์ นำภา นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หนึ่งในแกนนำ ‘ม็อบ 19 กันยา ’บอกเจตนารมณ์ของการชุมนุมผ่านทางทวิตเตอร์ ขณะที่ เยาวชนไทยวัย 21 ปี คนหนึ่ง กล่าวกับนักข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ ถึงสาเหตุที่มาร่วมชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.ว่า เป็นเพราะรู้สึกหมดหวังกับประชาธิปไตยในประเทศไทย และ ‘พวกเราต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้’ ...

...

ผู้เขียน : เวนิส

ที่มา : Aljazeera , BBC , Reuters