ขออนุญาตอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 กันหน่อยครับ ขณะที่ผมเรียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพในขณะนี้ มีผู้คนบนโลกติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 18.45 ล้านคน เสียชีวิต 6.97 แสนคน ประเทศผู้ติดเชื้อสูงสุดคือสหรัฐฯ (4.86 ล้าน) บราซิล (2.75 ล้าน) อินเดีย (1.85 ล้าน) รัสเซีย (8.56 แสน) และแอฟริกาใต้ (5.16 แสน)

ทั่วโลกพยายามหยุดยั้งการระบาดอย่างรุนแรง ทั้งการป้องกันตัวเองทางกายภาพ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ และการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่จนถึงวันนี้วิกฤติโควิด-19 ก็ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศยังมีการระบาดระลอก 2 ระลอก 3 ทั้งนครเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ นอร์เวย์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ

ไทยได้รับการยกย่องจากหลายหน่วยงานทั่วโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลกว่าเป็นประเทศที่สามารถป้องกันการระบาดของโควิด-19 ขนานใหญ่ได้ดีระดับโลก แต่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรากำลังอ่วมจากการระบาดระลอกล่าสุด ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนาม

ฟิลิปปินส์ตอนนี้โดนโควิด-19 เล่นงานจนอ่วมหนัก ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 6 พันคน ผู้ป่วยสะสมเกิน 1 แสนคน กลายเป็นประเทศอาเซียนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด–19 อันดับ 2รองจากอินโดนีเซีย ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์กรุงมะนิลาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเข้มข้นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 15 วัน

เวียดนามซึ่งเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ กำลังเป็นประเทศที่เนื้อหอมที่สุดในอาเซียน ตอนนี้ก็ถูกโควิด-19 โจมตีในหลายเมือง ทั้งกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ และเมืองดานัง รัฐบาลเวียดนามจึงสั่งล็อกดาวน์เมืองดานัง และกำลังกังวลหนักเพราะการระบาดของโควิด-19 ลามเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง

...

โรงงานที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ว่ามีพนักงานรวมแล้วมากถึงเกือบ 8 หมื่นคน แม้ว่าจะเจอผู้ป่วยจากโรงงานเบื้องต้นเพียง 4 คน แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือพนักงานที่อยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันนี้จะติดเชื้อไปด้วยหรือไม่ ผมก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้ระบาดเป็นวงกว้างเลย เพราะเท่าที่ทราบ เชื้อโควิด-19 ที่เพิ่งระบาดครั้งใหม่ในดานัง เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าการระบาดครั้งก่อนหน้าเกิน 1 เท่าตัว

แม้ตอนนี้จะมีการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด–19 นับ 100 สูตรทั่วโลก หลายสูตรอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก
ระยะที่ 3 รัฐบาลรัสเซียประกาศว่าเตรียมฉีดวัคซีนต้านโควิด–19 ของตัวเองครั้งใหญ่ให้ประชาชนโดยเริ่มที่กลุ่มหมอกับครูในเตือนตุลาคม 2563 แต่นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกก็ออกมาแถลงการณ์ว่าตอนนี้ยังไม่มีวิธีที่จะกำจัดโควิด–19 ได้อย่างสิ้นซาก แถมยังสำทับอีกว่าโควิด–19 มีแนวโน้มยืดเยื้อและจะส่งผลยาวนานไปอีกหลายสิบปี

นอกจากระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายแล้ว การศึกษาในระบบก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังวิตกกังวล นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้โลกเข้าสู่วิกฤติทางการศึกษา

ทุกคนทราบดีว่าสถาบันการศึกษาคือแหล่งรวมของมนุษย์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา เมื่อเกิดโรคระบาดสถาบันการศึกษาจึงเป็นหน่วยแรกๆที่ต้องปิดทำการ ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาใน 160 ประเทศที่ถูกรัฐบาลสั่งปิด ส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษามากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

แม้ว่าจะมีการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ทักษะบางอย่างและบางช่วงวัย จำเป็นที่จะต้องผ่านการบ่มเพาะจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา การปิดสถาบันการศึกษาทั่วโลกทำให้นักเรียนขาดช่วงการเรียนรู้ สูญเสียศักยภาพที่ควรจะพัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ ก็ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นทวีคูณ

ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผมขอให้ผู้อ่านท่านที่เคารพ ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทในทุกด้านครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com