บทความ “การต่อสู้กับโรคโควิด-19 : ความท้าทายล่าสุดของความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างสหรัฐฯและไทย” โดย นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ปีนี้วันอนามัยโลก (7 เมษายน) เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมนุษยชาติกำลังต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโรคครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่ละวันมียอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง วันอนามัยโลก ปี 2563 จึงเป็นโอกาสพิเศษในการยกย่องและสรรเสริญบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ช่วยดูแลให้โลกปลอดภัย และผมขอร่วมชื่นชมผู้ที่เสี่ยงชีวิตของตน ณ เวลานี้ เพื่อปกป้องพวกเราทุกคนจากโรคร้ายนี้
ท่ามกลางข่าวที่น่าเศร้าใจ เรายังพอเห็นประกายแห่งความหวัง ระบบสาธารณสุขของไทยซึ่งมีความเป็นเลิศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น กำลังระดมบุคลากรที่มีความสามารถและทรัพยากรต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 20 ของพนักงานสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานภาคีของไทย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ ช่วยพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้เป็นศูนย์ควบคุมการรับมือโรคโควิด-19 ของไทย CDC ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือกว่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในหลากหลายโครงการด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ โรคระบาดไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออื่นๆ และตั้งแต่ปี 2504 องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และนักวิจัยชาวไทย เพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพดียิ่งขึ้น โดยมอบความช่วยเหลือมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนไทย รวมถึงเงินช่วยเหลืออีกเกือบ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
...
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) อีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตั้งมากว่า 57 ปี เป็นความร่วมมือทางการแพทย์ทหารระหว่างกองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทย ความร่วมมือนี้ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น ไข้สมองอักเสบเจอี ไวรัสตับอักเสบเอ มาลาเรีย และเอชไอวี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ.