(Credit : NASA/Don Davis)
รู้กันว่าอุกกาบาตขนาดกว้าง 2 กิโลเมตรพุ่งชนโลกเมื่อเกือบ 800,000 ปีก่อน ทว่าจุดที่แน่นอนที่มันตกลงสู่พื้นโลกนั้นกลายเป็นปริศนามายาวนานหลายทศวรรษ แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีการวิจัยใหม่รายงานลงวารสาร Proceedings of the national academy of sciences โดย ศ.เคอร์รี เซียะ จากหอสังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์และทีมงาน เผยมีหลักฐานชี้ชัดว่าหลุมอุกกาบาตจากเหตุการณ์ชนครั้งนั้นอาจอยู่ใต้ลาวาที่เย็นลงแล้วในพื้นที่ 910 ลูกบาศก์กิโลเมตรตรงบริเวณที่เคยเกิดการระเบิดของภูเขาไฟในลาว
ปัจจุบันแม้ผิวโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่นักวิจัยเชื่อว่าหลุมอุกกาบาตที่ซ่อนอยู่นั้นมีความกว้างประมาณ 13 กิโลเมตร ยาว 17 กิโลเมตร ตามการคำนวณของทีม และมีวัตถุสีดำขนาดเล็กที่เรียกว่าเทคไทต์ (Tektites) ซึ่งน่าจะเกิดจากวัสดุของโลกที่ละลายจากการตกกระทบของอุกกาบาต เทคไทต์มีอายุตั้งแต่ 750,000- 35,500,000 ปี ถูกค้นพบทั่วโลกในทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา ทีมวิจัยเผยว่า การดำรงอยู่ของวัตถุดังกล่าวอย่างกระจัดกระจายก็หมายความว่าอุกกาบาตมีขนาดใหญ่มากและเคลื่อนที่เร็วจนละลายหินได้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันทฤษฎี และนักวิทยาศาสตร์จะต้องเจาะศึกษาหินภูเขาไฟเพื่อดูว่าจะสามารถหาหินประเภทที่คาดว่าจะมีในพื้นที่ที่อุกกาบาตตกกระทบ.