(Credit : Alyssa Goodman / Harvard University)

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา รายงานลงในวารสารเนเจอร์ถึงการค้นพบโครงสร้างกลุ่มก๊าซรูปร่างคล้ายคลื่นก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือก จากการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ที่ได้จากยานอวกาศไกอา (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอ ที่ส่งขึ้นไปทำภารกิจวัดตำแหน่งระยะทางและการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างแม่นยำ

เมื่อรวมข้อมูลที่แม่นยำที่สุดจากยานอวกาศไกอาเข้ากับการวัดอื่นๆ สำหรับสร้างแผนที่ 3 มิติของสสารระหว่างดวงดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือกอย่างละเอียดและสังเกตเห็นรูปแบบที่คาดไม่ถึงในแขนกังหันที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ทีมนักดาราศาสตร์จึงได้ค้นพบโครงสร้างที่ยาวและบาง โดยความยาวประมาณ 9,000 ปีแสง ความกว้าง 400 ปีแสง และด้วยรูปร่างคล้ายคลื่นก็ทำให้ยอดระดับสูงสุดอยู่ที่ 500 ปีแสงทั้งเหนือและใต้ ตรงระนาบกลางจานฝุ่นก๊าซของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา

และบนคลื่นก็ประกอบไปด้วยพื้นที่อนุบาลดวงดาวทารกหลายแห่ง ที่เคยคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “เข็มขัดของเกาด์” (Gould's Belt) เป็นภูมิภาคที่ก่อตัวดาวฤกษ์ ซึ่งแผนที่ 3 มิติใหม่ได้แสดงพื้นที่ใกล้เคียงกาแล็กซีทางช้างเผือกในมุมมองใหม่ จะทำให้นักดาราศาสตร์ได้แก้ไขมุมมองของทางช้างเผือกรวมถึงเปิดประตูสู่การค้นพบที่สำคัญอื่นๆ.