ชื่นมื่น–ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส (ขวา) จับมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระหว่างร่วมแถลงข่าวปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 7 ที่เมืองบียาริทซ์ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ฝรั่งเศส เมื่อ 26 ส.ค. ซึ่งผู้นำทั้งคู่อ้างว่าการหารือกันเป็นไปด้วยดีและมีเอกภาพ (เอพี)

การประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 (จี 7) ประจำปี 2562 ที่เมืองบียาริทซ์ในฝรั่งเศส เมื่อ 24-26 ส.ค. แม้ภายนอกดูเหมือนสำเร็จราบรื่น แต่ลึกๆแล้วมีความขัดแย้งมากมายที่ถูกซุกไว้ใต้พรม เพื่อให้ซัมมิตครั้งนี้ “ดูดี” ตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสเจ้าภาพ

ประเด็นขัดแย้งส่วนใหญ่รวมศูนย์อยู่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ “พี่ใหญ่หมายเลข 1” ของจี 7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไปจนถึงเรื่องอิหร่าน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

แต่มาครงทำหน้าที่เจ้าภาพได้ดี คอยประคับประคองไม่ให้สมาชิกจี 7 ทะเลาะกับทรัมป์เหมือนซัมมิตจี 7 สองครั้งก่อน ซึ่งทรัมป์เป็น “ตัวป่วน” จนวงแตก

ซัมมิตจี 7 ที่อิตาลีในปี 2560 ผู้นำจี 7 ขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก “ข้อตกลงปารีส” ต่อสู้โลกร้อน และไม่ยอมรับถ้อยความเรื่องภาวะโลกร้อนใน “แถลงการณ์ร่วม” (Communique) ปิดการประชุมครั้งนั้น ส่วนซัมมิตจี 7 ที่แคนาดาในปี 2561 ทรัมป์ก็ไม่ยอมลงนามในแถลงการณ์ร่วม โวยวายว่าตนถูกนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด เจ้าภาพ ดูหมิ่นมองข้ามหัว

ดูเหมือนมาครงจะใช้ซัมมิต 2 ครั้งก่อนเป็นบทเรียน จึงพยายามทำตัวเป็นกาวใจคอยไกล่เกลี่ยไม่ให้ความขัดแย้งกับทรัมป์ปะทุรุนแรงจนวงแตกอีก ถึงแม้การประชุมจะไม่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอะไรนัก

...

ด้วยเหตุดังกล่าว ซัมมิตครั้งนี้ เหล่าผู้นำจี 7 จึงตัดสินใจไม่ออก “แถลงการณ์ร่วม” (Communique) ตามธรรมเนียมปฏิบัติเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี ซึ่งปกติ Communiqueนี้จะแสดง “ฉันทามติ” ที่เหล่าผู้นำจี 7 บรรลุข้อตกลงกันได้ตามวาระการประชุมที่กำหนดไว้ และวาง “โรดแม็ป” ว่าจะแก้ปัญหานั้นๆกันอย่างไร

แต่ซัมมิตจี 7 ครั้งนี้ เหล่าผู้นำจี 7 เพียงออก “คำประกาศ” (Declaration) ด้วยถ้อยคำที่ดูดีแบบไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น โดยเริ่มด้วยข้อความว่า “เหล่าผู้นำจี 7 หวังเน้นย้ำถึงเอกภาพอันยิ่งใหญ่และเจตนารมณ์ในด้านบวกของการอภิปรายถกเถียงกัน”

มาครงเองก็พยายามลดความขัดแย้งโดยระบุว่า “สิ่งที่เหล่าผู้นำจี 7 ปรารถนาโดยแท้จริงก็คือการส่งสารร่วมในเชิงบวกหลังการหารือกัน” และเน้นย้ำว่าเหล่าผู้นำจี 7 จับมือทำงานร่วมกับทรัมป์ด้วยดี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างการประชุม ทรัมป์ถูกผู้นำจี 7 อื่นๆ รุมกดดันให้รีบยุติสงครามการค้ากับจีน ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนและส่ง

ผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เหล่าผู้นำจี7 โดยเฉพาะแคนาดายังคัดค้านทรัมป์ที่เสนอให้รับ “รัสเซีย” กลับเข้าร่วมกลุ่มจี 7 เพื่อให้เป็น “จี8” อีกครั้ง หลังรัสเซียถูกขับออกจากกลุ่มโทษฐานที่ผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นดินแดนรัสเซียในปี 2557

ประชุมโต๊ะกลม–บรรดาผู้นำกลุ่มจี 7 คือสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ร่วมการประชุมแบบโต๊ะกลม ที่เมืองบียาริทซ์ในฝรั่งเศส เมื่อ 26 ส.ค. ประเด็นถกเถียงหลักๆ รวมทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่ทำให้เกิดความตึงเครียดไปทั่วโลก (เอพี)
ประชุมโต๊ะกลม–บรรดาผู้นำกลุ่มจี 7 คือสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ร่วมการประชุมแบบโต๊ะกลม ที่เมืองบียาริทซ์ในฝรั่งเศส เมื่อ 26 ส.ค. ประเด็นถกเถียงหลักๆ รวมทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่ทำให้เกิดความตึงเครียดไปทั่วโลก (เอพี)

ทรัมป์ยังขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ที่ชี้ว่าการทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้ของ “เกาหลีเหนือ” หลายครั้งนั้น เป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยทรัมป์แก้ตัวแทนโสมแดงว่าชาติอื่นๆ ก็ทดสอบขีปนาวุธกันทั้งนั้น “เราอยู่ในโลกแห่งขีปนาวุธ, เพื่อนเอ๋ย, ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ” ทรัมป์กล่าว

ส่วนกรณี “อิหร่าน” เหล่าผู้นำจี 7 อื่นๆ ก็กดดันให้ทรัมป์รักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 กับอิหร่านไว้ต่อไป หลังทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนี้และคว่ำบาตรอิหร่านหนักขึ้น จนภูมิภาคอ่าว เปอร์เซียร้อนระอุขึ้นมาอีก แต่ทรัมป์ก็ไม่ยอมถอย แถมยังอ้างว่า เหล่าผู้นำจี 7 มีเอกภาพอย่างมากในเรื่องอิหร่าน โดยเห็นพ้องต้องกันว่าอิหร่านต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนั่นเป็นจุดยืนเดิมๆ ที่ทุกฝ่ายสรุปกันมาหลายสิบปีแล้ว

กรณีอิหร่าน ดูเหมือนมาครงเจ้าภาพจะข้ามหน้าข้ามตาทรัมป์ไม่น้อย เมื่อเขาเชิญนายโมฮัมหมัด จาวาด ชาริฟ รมว.ต่างประเทศอิหร่านไปร่วมการประชุมจี 7 ครั้งนี้ด้วยโดยไม่คาดหมาย

ทรัมป์ยังขัดแย้งกับเหล่าผู้นำชาติจี 7 ในยุโรปเรื่อง “กองกำลังรัฐอิสลาม” (ไอเอส) โดยทรัมป์ต้องการให้ส่งพวกนักรบไอเอสจากยุโรปที่จับได้กลับไปยังประเทศในยุโรป แทนที่จะกักตัวไว้ในสหรัฐฯเท่านั้น

แม้จะมีข้อขัดแย้งหลากหลาย หลังปิดการประชุม ทรัมป์กลับอ้างหน้าตาเฉยว่าซัมมิตจี 7 ครั้งนี้มีความเป็น “เอกภาพ” ชนิดไร้ข้อบกพร่องใดๆ เพราะผู้นำทุกคนไปด้วยกันได้อย่างดียิ่ง

ไม่ว่าทรัมป์จะ “ขโมยซีน” จากซัมมิตจี 7 ไปอย่างไร แต่ผู้ที่สมควรได้รับคำชมมากที่สุดน่าจะเป็นเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสนั่นเอง เพราะเขารับบทบาทเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” ได้ดี โดยเฉพาะความพยายามเป็นกาวใจระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน จนทรัมป์แย้มว่ายังเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับอิหร่าน

...

มาครงพูดถึงบทบาท “กาวใจ” ของตนไว้น่าฟัง โดยยกประโยคอมตะของ “ชาร์ลส์ เดอ โกล” อดีตผู้นำฝรั่งเศสสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กล่าวไว้ว่า “การทูตคือความพยายามยึดกระจกหน้าต่างที่แตกเข้าไว้ด้วยกัน”

เป็นประโยคที่สรุปภาพรวมของซัมมิตจี 7 ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี!

บวร โทศรีแก้ว