ทั่วโลกกำลังจับตาว่า “ลิเบีย” ประเทศร่ำรวยน้ำมันในแอฟริกาแต่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ จะถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้งหรือไม่ หลังกองกำลังติดอาวุธ “กองทัพแห่งชาติลิเบีย” (แอลเอ็นเอ) ของ จอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ กรีฑาทัพจากภาคตะวันออกรุกเข้าโจมตีกรุงตริโปลีเมืองหลวง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้วจำนวนมาก

ในช่วงเกิดการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ต้นปี 2554 ซึ่งประชาชนในภูมิภาคอาหรับหลายประเทศลุกฮือขับไล่ผู้นำของตน รวมทั้งที่ลิเบีย ซึ่ง พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำจอมเผด็จการ ผู้กุมอำนาจมายาวนานถึง 42 ปี ใช้กำลังทหารกวาดล้างฝ่ายผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม จนสถานการณ์ลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง

กัดดาฟีระดมทัพรถถังที่เมืองเบงกาซีทางภาคตะวันออกและขู่จะฆ่าหมู่ผู้ประท้วงให้เกลี้ยง จนกองกำลัง “นาโต” ต้องเข้าแทรกแซง ทิ้งระเบิดถล่มกองทัพกัดดาฟีและช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรกบฏจนโค่นล้ม กัดดาฟีได้ จากนั้นเขาถูกฝ่ายกบฏจับ ทุบตี และฆ่าตายอย่างอัปยศเมื่อเดือนต.ค.2554 ซึ่งมีการเผยแพร่วิดีโอไปทั่วโลก

ผู้ยิ่งใหญ่  -  จอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ เป็นประธานในพิธีสวนสนามของทหารที่เมืองเบงกาซี เมื่อ 7 พ.ค.2561 และประกาศยุทธการบุกโจมตี “ผู้ก่อการร้าย” ที่เมืองเดอร์นาทางภาคตะวันออก (เอเอฟพี)
ผู้ยิ่งใหญ่ - จอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ เป็นประธานในพิธีสวนสนามของทหารที่เมืองเบงกาซี เมื่อ 7 พ.ค.2561 และประกาศยุทธการบุกโจมตี “ผู้ก่อการร้าย” ที่เมืองเดอร์นาทางภาคตะวันออก (เอเอฟพี)

...

หลังกัดดาฟีตาย ปีต่อมาก็มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลใหม่ไร้อำนาจ ไม่สามารถควบคุมฝ่ายกบฏที่แตกออกเป็นกองกำลังติดอาวุธนับร้อยกลุ่มทั่วประเทศ แต่ละกลุ่มมีเขตยึดครองและแนวทางของตนเอง บางกลุ่มรวมตัวกันหลวมๆ แต่หันมารบกันเองเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ขณะที่ลิเบียกลายเป็นตลาดค้าอาวุธขนาดมหึมา เต็มไปด้วยอาวุธที่ถูกปล้นไปจากคลังสรรพาวุธของกัดดาฟี และอาวุธจากชาติพันธมิตรในภูมิภาคที่ส่งไปช่วยกบฏกลุ่มต่างๆ

ภาวะไร้ขื่อแปทำให้กระบวนการถ่ายโอนอำนาจชะงักงัน และการสู้รบชิงอำนาจครั้งใหญ่ปะทุขึ้นที่กรุงตริโปลีในปี 2557 หลายพื้นที่รวมทั้ง สนามบินนานาชาติถูกทำลายย่อยยับ สงครามไม่มีผู้แพ้ชนะเด็ดขาด และส่งผลให้มีรัฐบาล 2 ชุด ชุดหนึ่งอยู่ในกรุงตริโปลีทางภาคตะวันตก อีกชุดไปตั้งอยู่ที่เมืองโตบรุกทางภาคตะวันออก

ปี 2558 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) สนับสนุนให้ตั้งรัฐบาลเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอำนาจขึ้นในกรุงตริโปลี เรียกว่ารัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (จีเอ็นเอ) มีนักวิชาการชื่อฟาเยซ ซาร์ราจ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลอีกชุดที่เมืองโตบรุก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองกำลังแอลเอ็นเอของจอมพลฮาฟตาร์ไม่ยอมรับ

ฮาฟตาร์เคยช่วยกัดดาฟีก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ในปี 2512 เขาเติบโตอย่างรวดเร็วในกองทัพจนได้เป็นแม่ทัพลิเบียในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 2516 แต่เมื่อกองทัพลิเบียแพ้สงครามกับประเทศ “ชาด” ในเวลาต่อมา ฮาฟตาร์และทหารลิเบียหลายพันนายถูกจับเป็นเชลย เกียรติภูมิของเขาเลยป่นปี้

รุกเมืองหลวง  -  นักรบกองทัพแห่งชาติลิเบีย (แอลเอ็นเอ) ภายใต้การนำของจอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ ชูมือและอาวุธอย่างฮึกเหิม ก่อนกรีฑาทัพออกจากเมืองเบงกาซีทางภาคตะวันออก เพื่อรุกโจมตีกรุงตริโปลี เมื่อ 7 เม.ย. (รอยเตอร์)
รุกเมืองหลวง - นักรบกองทัพแห่งชาติลิเบีย (แอลเอ็นเอ) ภายใต้การนำของจอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ ชูมือและอาวุธอย่างฮึกเหิม ก่อนกรีฑาทัพออกจากเมืองเบงกาซีทางภาคตะวันออก เพื่อรุกโจมตีกรุงตริโปลี เมื่อ 7 เม.ย. (รอยเตอร์)

หลังสงครามกับชาดยุติ ฮาฟตาร์เปลี่ยนขั้วไปเข้ากับฝ่ายค้านสู้กับกัดดาฟี เคยวางแผนก่อรัฐประหารโค่นกัดดาฟีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงหนีไปลี้ภัยที่ชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในสหรัฐฯ ถึง 20 ปี และเมื่อเกิดการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ในปี 2554 เขาก็กลับลิเบียไปเป็นผู้บัญชาการกองกำลังฝ่ายกบฏ แต่เมื่อกัดดาฟีตายเขาไม่ลงรอยกับรัฐบาลใหม่ จึงยกกองกำลังไปอยู่ภาคตะวันออก มีศูนย์บัญชาการใหญ่ที่เมืองเบงกาซี และสร้างบารมีด้วยการกวาดล้างกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง รวมทั้งสาขาของกลุ่ม “ไอเอส” และ “อัล-เคดา” ที่เข้าไปฝังรากทางภาคตะวันออกลิเบียจนราบคาบ

ในปีหลังๆ กองกำลังของฮาฟตาร์ทำสงครามเป็นว่าเล่น สามารถยึดภาคตะวันออกและบ่อน้ำมันได้เกือบทั้งหมด ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฮาฟตาร์ยังขยายอิทธิพลยึดอำนาจไปทั่วภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญด้วย โดยดึงกลุ่มติดอาวุธและชนเผ่าต่างๆมาเป็นพวก ทำให้ “แอลเอ็นเอ” กลายเป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในลิเบีย

ฮาฟตาร์มักตราหน้าศัตรูว่าเป็น “ผู้ก่อ-การร้าย” และรู้กันว่าเขายึด พล.อ.อับเดล-ฟัตตอห์ เอล-ซิซี ประธานาธิบดีอียิปต์เป็น “ต้นแบบ” โดยเอล-ซิซี ขึ้นกุมอำนาจหลังนำกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีฝ่ายเคร่งอิสลามในปี 2556 จากนั้นก็กวาดล้างฝ่ายต่อต้านอย่างเฉียบขาดรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

ฮาฟตาร์ได้รับการสนับสนุนจากอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส และรัสเซีย แต่รัสเซียลอบช่วยฮาฟตาร์ อย่างลับๆ โดยอ้างว่าไม่เข้าข้างฝ่ายใดในศึกลิเบีย ส่วนรัฐบาล “จีเอ็นเอ” ในกรุงตริโปลีซึ่งยูเอ็นและนานาชาติยอมรับ มี “ตุรกี” และ “กาตาร์” คู่อริของอียิปต์และยูเออีสนับสนุนขณะที่ประเทศในยุโรปส่งความช่วยเหลือไปให้กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นต่างๆหลายสิบกลุ่ม เพื่อให้ช่วยยับยั้งผู้อพยพจากแอฟริกาเข้าสู่ยุโรป รวมทั้งช่วยกวาดล้างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและช่วยปกป้องแหล่งน้ำมันที่ส่งไปยุโรป

...

การรุกโจมตีกรุงตริโปลีของฮาฟตาร์แบบฉับพลันมีขึ้นก่อนยูเอ็นจัดการประชุมระหว่างรัฐบาลกรุงตริโปลีและรัฐบาลเมืองโตบรุกใน 14-16 เม.ย. นี้ เพื่อหารือเรื่องการวาง “โรดแม็ป” จัดการเลือกตั้งใหม่ในลิเบีย แต่ข้อตกลงที่ยูเอ็นเป็นตัวกลางจัดทำขึ้น ห้าม “ทหาร” ซึ่งรวมทั้งฮาฟตาร์รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

จึงเป็นไปได้ว่าฮาฟตาร์ผู้ทะเยอทะยานต้องการ “แสดงพลัง” ว่าตนเองยิ่งใหญ่มากบารมีขนาดไหน ดังนั้นการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต ตนต้องมีส่วนแบ่งในอำนาจด้วย และอาจถึงขั้นตั้งเป้าเป็นผู้นำประเทศด้วย!

บวร โทศรีแก้ว