วารสาร “จากญี่ปุ่น” ครั้งนี้ ว่ากันด้วย วะชิ กระดาษญี่ปุ่น เทคนิคการทำกระดาษด้วยมือของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับให้ขึ้นเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2557 ถูกนำมาใช้ประโยชน์กับการดำเนินชีวิต

ด้วยวิธีการผลิตและเทคนิคพิเศษ คุณสมบัติน้ำหนักเบา ผิวสัมผัสอ่อนละมุนเพราะเส้นใยที่เรียงตัวอย่างสลับซับซ้อน ทำให้เกิดช่องว่างเล็กๆ ให้อากาศไหลผ่าน แต่มีความทนทาน ฉีกขาดยาก

ตั้งแต่อาคารสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง ประตูเลื่อนและฉากเลื่อน ที่ขาดไม่ได้ ซึ่งช่วยให้แสงแดดอ่อนๆ ลอดผ่านเข้ามาสะท้อนถึงความอ่อนโยนของธรรมชาติ แม้แต่เทศกาลปีใหม่ มีการละเล่น เช่น ว่าว และบัตรคะรุตะ สำหรับเล่นบนกระดานกระดาษ ให้ผู้เล่นเดินหมากตามจำนวนแต้มที่ทอดลูกเต๋า

เทศกาลทะนะบะตะ ทุกวันที่ 7 ก.ค.ดาวชายเลี้ยงวัวกับดาวหญิงทอผ้าจะเจอกันบนทางช้างเผือก จึงมีประเพณี เขียนคำอธิษฐานบนแผ่นวะชิ ขนาดเล็กแล้วแขวนประดับไว้บนกิ่งต้นไผ่ ตะเกียงทำจากวะชิบนโครงไม้ไผ่ เมื่อไม่ใช้งานก็สามารถพับเก็บได้ พกพาสะดวก

ไม่เท่านั้น ร่ม ญี่ปุ่นก็สะท้อนถึงการใช้วะชิที่สามารถกันน้ำได้ และตามร้านค้าก็เขียนโฆษณาลงไปได้ ส่วน ชิเดะ กระดาษสีขาว ที่พับแล้วตัดนำมาแขวนกับเชือกชิเมะนะวะในศาลเจ้า เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ หม้อไฟคะมินะเบะ ที่ทำจากกระดาษ พบเห็นได้ตามโรงแรมแบบญี่ปุ่น (เรียวกัง) ด้วยกระดาษแผ่นบางๆ ช่วยให้ความร้อนกระจายตัว วัตถุดิบสุกเร็ว แม้กระดาษได้รับความร้อนจากไฟโดยตรง แต่อุณหภูมิน้ำในหม้อไฟนี้จะไม่สูงถึง 100 องศาเซลเซียส

และ การห่อของขวัญ ด้วยกระดาษแสดงความขอบคุณและความสุภาพ การประดับกระดาษที่พับอย่างสวยงามได้กลายเป็นมารยาททางสังคม และยังมีกระดาษที่ถูกพับเป็นรูปทรงผีเสื้อใช้ในงานพิธีมงคลสมรสอีกด้วย.

...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ