นักการเมืองอ้างเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการเข้มข้นทั้งของสแกนดิเนเวียและของนิวซีแลนด์ พูดถึงระบบของสแกนดิเนเวียพอรับได้ แต่ระบบของนิวซีแลนด์ที่อ้างนั้น เป็นเรื่องในอดีต 35 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้นิวซีแลนด์ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านพูดเพราะมีการปฏิรูปสำเร็จแล้วเมื่อ พ.ศ.2527
เดิมรัฐบาลนิวซีแลนด์มีบทบาททุกภาคส่วนของประเทศ รัฐบาลทำทั้งด้านสาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล การศึกษา รัฐบาลคุ้มครองทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ใครที่เคยไปเรียนที่นิวซีแลนด์ก่อน พ.ศ.2527 ก็คงจะทราบดีนะครับ ว่ารัฐแทรกแซงและควบคุมทุกอย่าง คนนิวซีแลนด์จึงไม่นำทรัพยากรไปใช้เป็นประโยชน์ กฎระเบียบต่างๆ เข้มงวดมาก รัฐอุดหนุนทุกเรื่อง ระบบราคาของนิวซีแลนด์จึงบิดเบือน ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน
ขณะที่คนในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความสบายทำให้คนนิวซีแลนด์ไม่คิดค้นของใหม่ รัฐบาลนิวซีแลนด์สมัยนั้นเก็บภาษีนำเข้าสูงมาก และควบคุมการนำเข้าสินค้าหลายชนิด ที่ต้องควบคุมเพราะรัฐต้องการช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศ มีระบบใบอนุญาตนำเข้า หรือ Import license มีการผูกขาดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ค่า สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานมีราคาแพง แถมรัฐบาลนิวซีแลนด์สมัยนั้นยังเอาใจแรงงานด้วยการสร้างกฎหมายด้านแรงงานจำนวนมาก มีข้อตกลงไตรภาคีทำให้ค่าจ้างแรงงานไม่สัมพันธ์กับผลผลิตที่ได้
นอกจากรัฐวิสาหกิจของนิวซีแลนด์สมัยนั้นจะขาดประสิทธิภาพแล้ว การที่รัฐอุดหนุนภาคการส่งออกอย่างมาก ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกแย่ไปด้วย เพราะแข่งขันกับใครไม่ได้
นิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จในวันนี้เพราะรัฐบาลและประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องผ่าตัดประเทศอย่างใหญ่ ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่รัฐแทรกแซงและควบคุมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด โดยหันมาปล่อยเสรี ไม่ว่าจะเสรีในนโยบายการค้า นโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายด้านภาษี สมาชิกรัฐสภาก็เร่งแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับการปล่อยเสรี มีการแปรรูปรัฐวิสาห กิจพลังงานการขนส่งทางบก รถยนต์ รถไฟ สายการบินที่เป็นของรัฐบาลแปรรูปเป็นของบริษัทเอกชนหมด ปล่อยให้มีการแข่งขันเสรีในระบบเศรษฐกิจ เดิมรัฐบาลนิวซีแลนด์อุ้ยอ้ายใหญ่โต มีการลดขนาดของภาครัฐลง และลดการแทรกแซง
...
สมัยก่อน ภาษีนำเข้าของนิวซีแลนด์สูงมาก สูงเฉลี่ยร้อยละ 38 เมื่อปฏิรูปก็ลดลงมาเหลือร้อยละ 10 (ระหว่าง พ.ศ.2529-2535) และลดลงมาอีกจนเหลือเพียงเฉลี่ยร้อยละ 7 สมัยก่อน ใครจะนำสินค้าเข้ามาในนิวซีแลนด์จะต้องมี Quota Licensing หรือใบอนุญาตโควตาการนำเข้า ต่อมารัฐบาลยกเลิกใบอนุญาตโควตาการนำเข้าทุกประเภท ที่เคยมีมาตรการจูงใจในการส่งออก ก็ยกเลิกทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อก่อนใครผลิตสินค้าและส่งออกได้จริง รัฐบาลก็จะมี Export Performance Tax Incentive หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกให้ แต่พอปฏิรูปแล้ว รัฐก็ยกเลิกสิทธิทั้งหมด
รัฐบาลนิวซีแลนด์ยกเลิกการกำหนดราคาขั้นต่ำในสินค้าเกษตรทุกชนิด ยกเลิกการลดภาษีให้กับเกษตรกร ยกเลิกการอุดหนุนทางการเงินให้กับภาคเกษตรกรรมโดยคณะกรรมการผู้ผลิต ยกเลิกการควบคุมเงินทุน ลดการกำกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หันมาใช้ระบบค่าเงินลอยตัว และอนุญาตให้เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อลงทุนในทุกสาขาได้โดยเสรี ยกเลิกแม้แต่การควบคุมอัตราดอกเบี้ย เปิดเสรีธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเปิดเสรีตลาดหลักทรัพย์
สหภาพแรงงานของนิวซีแลนด์เคยเข้มแข็งมาก การต่อรองจากสหภาพแรงงานทำให้นักลงทุนแขยงแขงขน และกลัวการจ้างงาน รัฐบาลก็ลดความสำคัญของสหภาพแรงงานลงโดยการยกเลิกกฎหมายที่ทำให้แรงงานทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในสหภาพแรงงาน แก้ไขกฎหมายให้มีการต่อรองค่าจ้างแรงงานระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานเข้าสู่ระบบตลาด
รัฐบาลนิวซีแลนด์มีชื่อเรื่องสนับสนุนเงินเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนา ต่อมารัฐบาลยกเลิกเงินสนับสนุนเพื่อให้เอกชนทำวิจัยและพัฒนากันเอง แถมยังสร้างภาวะการแข่งขันในการวิจัยและพัฒนา โดยเปิดให้มีการสร้างกองทุนต่างๆ สนับสนุนให้มีการร่วมทำวิจัยและพัฒนาระหว่างภาคเอกชนหรือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งแปรรูปหน่วยงานของรัฐที่ทำการวิจัยให้เข้าไปอยู่ในรูปบริษัททั้งหมด
เรื่องที่เกี่ยวกับนิวซีแลนด์ยังมีอีกเยอะครับ ซึ่งนักการเมืองที่หาเสียงกรุณาอ้างให้ตรงกับความเป็นจริง.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com