การปะทะระหว่างกองทัพอากาศปากีสถานกับกองทัพอากาศอินเดีย เหนือน่านฟ้าแคชเมียร์ วันที่ 27 ก.พ. แม้จะมีความขัดแย้งของข้อมูลสูง เนื่องจากต่างฝ่ายก็ต้องการเป็นพระเอก

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือสถานการณ์ตึงเครียดครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นเรื่องของการตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทเสียมากกว่า

ทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานด้วยว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ควรมีความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น อย่างเครื่องบินรบอเนกประสงค์ เจเอฟ-17 “ฟ้าคำราม” ที่เป็นการพัฒนาร่วมระหว่างประเทศจีนกับปากีสถาน มีจุดประสงค์คือ ทดแทนเครื่องบินรบรุ่นเก่ามิราจ 3 ที่ฝรั่งเศสดีไซน์กันตั้งแต่ 58 ปีก่อน

หากคำอ้างของฝั่งปากีสถานเป็นเรื่องจริง คือเจเอฟ-17 เข้าร่วมด็อกไฟต์กลางเวหาและยิงเครื่องมิก-21 อินเดีย ตก 2 ลำ ก็ถือว่าตอบโจทย์ตรงประเด็น เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรบพันตู โดยที่ไม่เกิดความสูญเสีย (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปิดข่าวหรือไม่)

ขณะที่เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 แม้จะถูกอินเดียอ้างว่ายิงตก แต่หากดูจากกรณีที่อินเดียระบุว่า เอฟ-16 ปากีสถานใช้จรวดยิงนอกระยะสายตา อามราม-120 ซี-5 สอยเครื่องบินรบของตน ก็จะตอบจุดประสงค์เช่นกัน ว่าจรวดราคาแพงลูกละกว่า 3 ล้านดอลลาร์ สามารถจัดการเครื่องบินรบข้าศึกอย่างได้ผล

ส่วนฟากกองทัพอากาศอินเดีย ใช้เครื่องบินขับไล่มิก-21 เข้าเปิดศึกกับปากีสถาน ซึ่งอินเดียอ้างด้วยว่า ประสบความสำเร็จในการยิงเอฟ-16 ตก 1 ลำ และมีรายงานว่าใช้จรวดระยะสั้นอาร์-73 วิมเปล

แม้มิก-21 จะเป็นเครื่องเก่าถูกออกแบบมาตั้งแต่ 60 ปีก่อน แต่อินเดียเพิ่งมีการยกเครื่องอัปเกรดใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าระบบดาต้าลิงก์แชร์ข้อมูลอัปเดตสถานการณ์ หรือระบบการล็อกเป้าด้วยหมวกนักบิน หันหน้ามองเป้าหมาย-ล็อก-ยิงจรวด

...

และแน่นอนฝูงบินมิก-21 อินเดีย เคยได้รับคำชื่นชมจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระหว่างการฝึกซ้อมร่วม “โคป อินเดีย” ระบุว่า มิกอินเดียใช้กลยุทธ์แฝงตัวมากับเครื่องบินรบรุ่นใหม่กว่า ก่อนเข้าตะลุมบอนระยะใกล้ ทำให้เครื่องบินรบเอฟ-15 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ถูกจัดการหลายต่อหลายครั้ง

แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ประโยคนี้ถือเป็นอมตะชั่วฟ้าดินสลาย.

ตุ๊ ปากเกร็ด