คนที่ผมรู้จักอ่านหนังสือพิมพ์ของไทยเรื่องการตรวจเข้มผลไม้ไทยไปจีน ส่งข้อความและเนื้อหาในข่าวมาถามผม ผมจึงแปลและถามศุลกากรจีน ผลก็คือได้เนื้อหาที่ตรงกัน ปีที่แล้ว แม้จีนตรวจผลไม้จากไทยไม่เข้มงวด ก็ยังพบเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเม็ด มีปริมาณยาฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน และได้ออกคำเตือนมามากกว่า 1,700 ครั้ง
พ.ศ. 2562 การส่งออกทุเรียนไปยังจีนที่จะเริ่มเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทางการจีนจะเข้มงวดมาก การส่งออกทุเรียนจากไทยจะต้องระบุเลขที่ GMP ของโรงคัดบรรจุในใบรับรองสุขอนามัยพืช และต้องระบุว่ามาจากสวนไหน
ค้นข้อมูลจากสมาคมส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทย พบว่า พ.ศ.2561 ทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัดมีผลผลิตทุเรียน 403,907 ตัน คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนใน พ.ศ.2562 เพิ่มถึง 486,682 ตัน ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 หมื่นตันบวกกับความเข้มงวดของการตรวจมาตรฐานผลไม้สดไทยที่จะไปจีน 5 ชนิดคือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง จะกระทบเกษตรไทยอย่างมาก
พ.ศ. 2561 ร้านและภัตตาคารอาหารไทยของผมที่เมืองหลินกุ้ยและกุ้ยหลินก็กระทบจากการขาดแคลนมะม่วงน้ำดอกไม้ ข้าวเหนียวมะม่วงคือเมนูฮิตที่ลูกค้าชาวจีนชอบกันมาก ที่จริงมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยไม่ได้ขาดตลาด แต่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าชาวจีน เพราะความยุ่งยากในการทำพิธีสารการส่งออก ในอดีตที่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะการตรวจไม่เข้มข้น แต่ตั้งแต่ปีนี้ไปจะเข้มข้นมากเป็นอย่างยิ่ง
ผมค้นข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร (สวพ.6) พบว่า พ.ศ.2562 พื้นที่ระยอง จันทบุรี ตราด มีแปลงทุเรียนทั้งหมด 281,945 ไร่ ขึ้นทะเบียนเพื่อรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพียง 42,476 ไร่ ผ่านการรับรอง GAP และยังไม่หมดอายุเพียง 30,180.15 ไร่ อยู่ระหว่างการตรวจ 12,296 ไร่ ที่ยังไม่มีใบรับรองมาตรฐาน GAP มีประมาณ 2.4 แสนไร่
...
สวนผลไม้ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับมาตรฐานทางการเกษตรที่ดีหรือ GAP ส่วนโรงคัดบรรจุที่จะส่งออกผลไม้ที่เราเรียกว่า ‘ล้ง’ ต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP ล้งผลไม้ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกมีประมาณ 400 แห่ง พ.ศ.2561 มี GMP เพียง 147 แห่งหรือร้อยละ 30 ใน 147 แห่งนี้เป็นโรงคัดบรรจุทุเรียนเพียง 97 แห่ง
ปัจจุบัน นักลงทุนจีนไปทำเกษตรแปลงใหญ่ในกัมพูชา ซึ่งมีดินและภูมิอากาศเหมือนกับ 3 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย ผลผลิตทางการเกษตรของทุนจีนน่าจะเริ่มได้ในปีนี้ ทว่ายังไม่มากนัก พ.ศ.2561 ผมตามท่านผู้ใหญ่ไปตระเวนในหลายแขวงของ
สปป.ลาวก็พบว่า นักลงทุนจีนเช่าที่ดินใน สปป.ลาวเพื่อปลูกพืชผักผลไม้สำหรับส่งกลับไปขายในประเทศจีนด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ไทยยังใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช แต่บริษัทจีนในกัมพูชาและลาว เพื่อนำพืชพื้นถิ่นมาใช้กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ไม่ว่าสะเดา ขิง ข่า ตะไคร้ ดาวเรือง พริก ขมิ้น และมะกรูด ดังนั้น พืชผักและผลไม้ที่คนจีนมาเช่าที่ดินในประเทศรอบบ้านของเราผลิต จึงน่าจะไม่มีปัญหาสารตกค้างและยาฆ่าแมลงเหมือนผลผลิตของไทย
รัฐบาลของบางประเทศจัดสะเดา ขิง ข่า ตะไคร้ ดาวเรือง พริก ขมิ้น และมะกรูด เป็นวัตถุอันตราย ทำอย่างนี้เพื่อให้เกษตรกรต้องอยู่ภายใต้การกำกับการผลิตของราชการ เพื่อทำให้ชาวบ้านผลิตขายได้ยากขึ้น โดยอ้างว่าต้องการรักษามาตรฐานให้ผู้บริโภค
รัฐบางประเทศใช้กฎหมายมัดมือเกษตรกรเพื่อไม่ให้ไปผลิตแข่งกับนายทุนชาติ กฎหมายที่ยุ่งยากทำให้บริษัทนายทุนชาติเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามระเบียบได้ ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรหัวก้าวหน้าใช้พืชพื้นถิ่นมาปรุงทำสารไล่แมลงใช้เองได้เพียงอย่างเดียว ถ้าจะผลิตเพื่อจำหน่าย หรือผลิตในปริมาณมาก ต้องไปซื้อจากบริษัทนายทุนชาติหรือไม่ก็หันไปใช้สารเคมี
นี่แหละครับ ที่ทำให้ผลผลิตทางเกษตรของบางประเทศมีสารตกค้าง
ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com