ปารีส พีซ ฟอรัม–ภาพมุมสูงวันเปิดการประชุม Paris Peace Forum ซึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส ช่วงวันที่ 11–13 พ.ย. 2561 ซึ่งมีผู้นำถึง 65 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย.

แม้ว่าฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆ รวมทั้งการปักหลักประท้วงของกลุ่มต่างๆ ที่หลายครั้งกลายเป็นความวุ่นวายถึงขั้นจลาจลเผาบ้านเผาเมืองหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีหนุ่มวัย 41 ปีเศษ ก็ยังมีความพยายามที่จะรักษาสถานะของความเป็นประเทศมหาอำนาจ 1 ใน 5 ของโลกและในฐานะแกนนำใหญ่ในสหภาพยุโรปด้วยการแสดงบทบาทบนเวทีโลกในหลากหลายมิติด้วยกัน

นายโลรอง บิลี อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงกิจการยุโรปและต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวถึง การจัดการประชุมสุดยอด G7 หรือการประชุมสุดยอดประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก 7 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลีและฝรั่งเศส ที่กำหนดจะมีขึ้นเป็น

ครั้งที่ 45 โดยมีฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2562 ว่า จะมุ่งเน้นประเด็นของการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันทางด้านคุณภาพชีวิตของพลเมือง โดยเฉพาะประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกา รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชายและเพศทางเลือกอื่นๆ ซึ่งจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาโดยผ่านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่

“นอกจากการประชุมระหว่างผู้นำของชาติสมาชิกแล้ว เรายังจะให้ความสำคัญกับการประชุมคู่ขนานของภาคประชาสังคม ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ใช้แรงและกลุ่มเยาวชน เป็นต้น ซึ่งในการประชุมสุดยอดปีนี้ เราอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ของการประชุมมากกว่าการออกแถลงการณ์ร่วม โดยสมาชิกบางชาติอาจจะมีความมุ่งมั่นในการผลักดันข้อเสนอบางประการ ขณะเดียวกันก็จะเน้นความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่ม G20 และ ASEM ซึ่งมีสมาชิกที่เหลื่อมกัน แต่มีความหลากหลายมากกว่า” อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศของฝรั่งเศสกล่าว

...

สัมมนา–นายโลรอง บิลี อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงกิจการยุโรปและต่างประเทศฝรั่งเศส (กลาง) พูดในเวทีสัมมนา เตรียมการประชุมสุดยอด G7 ซึ่งฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพ ช่วงวันที่ 25–27 ส.ค.ปีนี้.
สัมมนา–นายโลรอง บิลี อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงกิจการยุโรปและต่างประเทศฝรั่งเศส (กลาง) พูดในเวทีสัมมนา เตรียมการประชุมสุดยอด G7 ซึ่งฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพ ช่วงวันที่ 25–27 ส.ค.ปีนี้.

นายบิลีกล่าวด้วยว่า แน่นอนว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 จะต้องมีการหยิบยกประเด็นการเจรจาการค้ามาพูดถึง แต่คงจะไม่เน้นมากนัก เพราะเนื้อหาสาระต่างๆในเรื่องนี้ จะต้องถูกนำไปหารือกันในการประชุม G20 อยู่แล้ว และโดยธรรมชาติการประชุม G7 ก็จะไม่มีข้อเสนออะไรที่ไปขัดแย้งกับข้อเสนอของการประชุมกลุ่ม G20 อยู่แล้ว

ส่วนประเด็นเรื่องการลดโลกร้อนที่เคยเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมปีที่แล้วที่แคนาดานั้น น่าจะยังมีการหยิบยกมาหารือกันต่อ แต่น่าจะเป็นในระดับปฏิบัติการหรือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะประเทศสมาชิกมีจุดยืนที่แตกต่างกันไป จึงเน้นไปที่ความร่วมมือในภาคองค์กรพัฒนาเอกชนและบริษัทเอกชนมากกว่า

ทั้งนี้ นอกจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G7 แล้ว เวทีการประชุม Paris Peace Forum ซึ่งริเริ่มจัดขึ้นโดยประธานาธิบดีมาครงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนั้น ในปีนี้ เวทีที่มุ่งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรของรัฐและภาคประชาสังคมทั่วโลกได้นำเสนอแนวคิดในการจัดทำโครงการด้านธรรมาภิบาลที่จะนำไปสู่สันติภาพในระยะยาว โดยเน้นประเด็นเรื่องสันติภาพและความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การพัฒนา เทคโนโลยีใหม่และเศรษฐกิจแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งปีที่แล้วมีผู้นำถึง 65 ประเทศมาร่วมด้วย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยด้วย

นายมาร์ค เรเวแดง เลขาธิการของคณะกรรมการจัดเวที Paris Peace Forum ยืนยันว่า เวทีนี้จะยังมีการจัดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะถือว่าเป็นประโยชน์มากที่เปิดโอกาสให้ผู้นำประเทศและผู้ปฏิบัติหรือเจ้าของโครงการได้สื่อสารกันโดยตรงและแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จของโครงการ

“ในปีนี้ นอกจากมีการเปิดรับโครงการใหม่ๆเข้ามาประกวดแนวคิดและเปิดเวทีพูดคุยกันแล้ว ยังจะมีการนำโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเมื่อปีที่แล้วมารายงานผลด้วยว่า นำไปปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร แต่จะยังคงเอกลักษณ์ของการประชุมที่เน้นกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากเวทีสัมมนาระดับนานาชาติทั่วไป ทั้งนี้ แม้ว่านายมาครงจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เวทีนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป” เลขาธิการเวทีนี้กล่าว

...

จากการพูดคุยกับผู้รับผิดชอบจัดการประชุมระดับโลกทั้งในมุมของรัฐ และในมุมมองภาคประชาสังคมแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยังคงต้องการที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเวทีโลก ซึ่งเหนือไปจากการแสดงบทบาทนำผ่านสหภาพยุโรปและการให้ความสำคัญกับภูมิภาคใหม่ๆ โดยเฉพาะอาเซียนอีกด้วย

เข้าทำนองว่า ปัญหาภายในประเทศก็ต้องแก้ไขกันไป แต่ความเป็นพี่ใหญ่ในยุโรปและเวทีโลก “ฝรั่งเศส” ก็ไม่ทิ้งเช่นกัน...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี