เมโสอเมริกา (Mesoamerica) ซึ่งเป็นตอนกลางของทวีปอเมริกาและเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ มักจะมีเรื่องราวของชาวมายันและอาณาจักรมายา (Maya) ให้นักโบราณคดีค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสันในรัฐเวอร์จิเนีย แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เผยการค้นพบหลักฐานใหม่คือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ของสัตว์ป่าหลายชนิดในสถานที่ทำพิธีกรรม 5 แห่งในเมืองโคปัน ประเทศฮอนดูรัส ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะสังคมบางประการในยุคปี ค.ศ. 426–822 ของอารยธรรมมายา
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ไอโซโทป (isotope) คืออะตอมต่างๆของธาตุชนิดเดียวกันที่มีจำนวนโปรตอนหรือเลขอะตอมเท่ากันของกระดูกและฟันเสือพูม่าและเสือจากัวร์ รวมถึงสัตว์ตระกูลแมวที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ พร้อมกับกวาง นกเค้าแมว นกปากช้อนและจระเข้ เพื่อตรวจสอบอาหารและแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งตัวอย่างฟอสซิลของเสือพูม่าและจากัวร์นั้นตรวจพบพืชในกลุ่มที่เรียกว่า C4 มีถิ่นกำเนิดในเขตศูนย์สูตร โดยพบพืชชนิดนี้ในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังพบว่าชาวเมโสอเมริกาโบราณจะจับสัตว์ป่ามาทำสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงสถานะและพลังอำนาจ โดยนำมาเป็นเครื่องบูชายัญเป็นประจำทุกปี
การค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมเมโสอเมริกามีการเก็บกักสัตว์ป่าไว้ในสถานที่คุมขังเพื่อจุดประสงค์ด้านพิธีกรรม และยังเผยให้เห็นว่ามีเครือข่ายการค้าสัตว์ทั่วดินแดนเมโสอเมริกาโบราณอย่างกว้างขวางมากกว่าที่นักโบราณคดีเคยคิดไว้.
Credit : N. Sugiyama