ผู้สูงวัยผู้ไม่ทันเทคโนโลยีอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างอึดอัดคัดใจ แอดมินไลน์แอทไอดี @ntp5 ซึ่งมีสมาชิก 32,588 คน (มีผู้สูงวัยเกินร้อยละ 35) อบรมการตลาดยุคใหม่ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้มีอายุ 60-100 ปี ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เรียนครั้งละ 2 วัน ที่บ้านแด่แผ่นดิน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ 5-6 มิถุนายน 2561 ก็กำลังอบรมกันอยู่ ท่านที่สนใจรุ่นต่อๆไป เชิญที่ไลน์ไอดี @ntp5 ครับ

ผมมีลางสังหรณ์ว่าในอนาคตอาจจะเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 ก่อนอื่นผมขอเรียนเรื่องอ่าวเปอร์เซียก่อนครับ อ่าวเปอร์เซียเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอาหรับ ทะเลอาหรับก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทร อินเดีย อยู่ระหว่างสาธารณรัฐอินเดียกับคาบสมุทรอาหรับ

เรามักจะงงระหว่างทะเลอาหรับหรือ Arabian Sea กับอ่าวอาหรับ หรือ Arabs Gulf อ่าวอาหรับเป็นอ่าวในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ทางตะวันตกของเมืองอเล็กซานเดรียที่อยู่ตอนเหนือของอียิปต์ ส่วนอ่าวเปอร์เซียนี่ไม่ใหญ่มากเท่าใดครับ มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย เชื่อมกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ โดยช่องแคบฮอร์มุซ มีเกาะบาห์เรนและเกาะเคชม์อยู่ในอ่าวนี้

เวลาพูดถึงสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามนี้มี 2 ปฏิบัติการคือ ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย ระหว่าง 2 สิงหาคม 2533 ถึง 17 มกราคม 2534 และอีกปฏิบัติการหนึ่งชื่อ พายุทะเลทราย ระหว่าง 17 มกราคม 2534 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2534 สงครามนี้เป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารในกองกำลังผสมส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ อังกฤษ อียิปต์ ซาอุดี-อาระเบีย ต้องใช้เงินในการทำสงครามอ่าวครั้งแรก 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศที่ออกสตางค์มากที่สุดคือ ซาอุดีอาระเบีย ออกไปมากถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สงครามอ่าวครั้งที่หนึ่งจบลงด้วยชัยชนะของกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ

...

ต่อมาเป็นสงครามอ่าวครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าสงครามอิรัก เริ่มเมื่อ 20 มีนาคม 2546 และสหรัฐฯ ประกาศสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ธันวาคม 2554 สงครามครั้งนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการอ้างความชอบธรรมหลักการ pre-emptive war (การชิงทำสงครามล่วงหน้าก่อนถูกรุกราน) และ unilateralism (การใช้กำลังฝ่ายเดียว) โดยไม่รอการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ยุคที่คนของพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะมีการก่อสงคราม ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาจะลงจากตำแหน่ง โอบามาซึ่งมาจากพรรคเด็มโมแครตได้ดับไฟแห่งสงครามด้วยการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) แปลเป็นไทยคือ แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ซึ่งมีสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย จีน สหภาพยุโรป และอิหร่าน ท่ามกลางความโล่งอกโล่งใจของประชากรชาวโลก โดยลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 มีเนื้อหาบังคับอิหร่านให้ระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการแซงก์ชัน อิหร่านก็ยอมรับ

หลังจากโอบามาพ้นจากประธานาธิบดีและทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำ ทรัมป์ก็ประณามข้อตกลง JCPOA ว่าเป็นดีลแห่งความวิบัติหายนะ ผู้อ่านท่านคงทราบนะครับ ว่าทรัมป์หนุนอิสราเอลเต็มที่ ถึงขนาดที่เมื่อเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม เพื่อให้อิสราเอลมีความชอบธรรมในการครอบครองนครเยรูซาเลมได้ทั้งหมด

การเดินทางไปเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ก็เลือกไปซาอุดีอาระเบีย ซึ่งฝ่ายซาอุฯ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก

ซาอุดีอาระเบียเป็นศัตรูถาวรของอิหร่าน ซาอุฯเป็นผู้นำโลกอิสลามนิกายซุนหนี่ ส่วนอิหร่านเป็นผู้นำโลกอิสลามนิกายชีอะห์ อิหร่านและอิสราเอลก็เป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ดูจากการกระดิกพลิกตัวที่ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศคือ สหรัฐฯ ซาอุฯ และอิสราเอลไปมาหาสู่กัน ดูจากการสะสมอาวุธและจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ทำกับอิหร่านและประเทศอื่นเมื่อยุคของโอบามาผมก็มีความเชื่อว่าสงครามอ่าวครั้งที่ 3 น่าจะเกิดขึ้น

สงครามเกี่ยวดองหนองยุ่งกับเศรษฐกิจ

ถ้าสงครามเกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกก็จะพัง

เตรียมตัวกันไว้ให้ดีเถิดครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com