เมื่อปีที่ผ่านมาการค้นพบระบบดาวแทรพพิสต์–วัน (Trappist–1) นอกระบบสุริยะ ซึ่งมีดาวฤกษ์ 1 ดวงที่มีลักษณะเป็นดาวแคระที่เย็นจัดและมีมวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 10% พร้อมกับดาวเคราะห์บริวารจำนวน 7 ดวง โดยระบบดาวดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 40 ปีแสง สร้างความอัศจรรย์ใจแก่นักดาราศาสตร์อย่างมากเนื่องจากดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้นมีขนาดใกล้เคียงกับโลก และ 3 ใน 7 ดวงอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อว่าจะมีแหล่งน้ำที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
ล่าสุด นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวแคระเย็นจัดที่อยู่ตรงกลางของระบบแทรพพิสต์-วัน รวมถึงวัดขนาด วัดมวลของดาวเคราะห์แต่ละดวง และพิจารณาการจัดองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ พวกเขาเผยว่า ดาวเคราะห์ 7 ดวงนั้นมีลักษณะเป็นหิน ซึ่งมีมวลของน้ำประมาณ 5% โดยอาจจะอยู่ในสถานะของก๊าซหรือน้ำแข็ง หรือติดอยู่ภายในก้อนหิน โดยระบุว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 3 และ 4 มีแนวโน้มที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตรวจวัดครั้งใหม่จะยังไม่รู้ถึงสภาพพื้นผิวและบรรยากาศของดาวเคราะห์ดังกล่าว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่บอกว่าดาวเคราะห์เหล่านี้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ที่สำคัญคือระบบดาวแทรพพิสต์-วันถือเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการหาหลักฐานถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกโลกของเรา.