“ตำรวจสอบสวนกลาง” จับมือ “กรมการขนส่งทางบก” เปิดปฏิบัติการปราบรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง ลุยค้น 4 จุดใน 4 จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี ชัยภูมิ และศรีสะเกษ จับผู้ต้องหา 4 คนเครือข่ายทำทะเบียนปลอมสวมรถหนีไฟแนนซ์รถเถื่อน ไปจนถึงรถขโมย ยึดรถยนต์ 20 คัน รถ จยย. 7 คัน และแผ่นป้ายทะเบียนปลอมจำนวนมาก แฉทะเบียนรถบางหมายเลขใช้ใส่รถซ้ำกันกว่าสิบคัน

ที่ห้องประชุมชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 31 ก.ค. พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. และ พ.ต.ท.หญิง กัญจิรา นรสาร สว.ปรก.กก.3 บก.ป. พร้อมด้วยนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ร่วมแถลงผลปฏิบัติการ “ปราบรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง” หลังนำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จ.ราชบุรี จ.ชัยภูมิ และ จ.ศรีสะเกษ จับกุมผู้กระทำผิดรวม 4 คน ประกอบด้วยนายสหรัถ ขานสุโพธิ์ อายุ 22 ปี นายนิปุณ ตันประเสริฐ อายุ 32 ปี นายสมรรถพงค์ นารีนาถ อายุ 44 ปี และนายมงคล เหง้าชัยภูมิ อายุ 33 ปี ตรวจยึดของกลางรถยนต์ 20 คัน รถจักรยานยนต์ 7 คัน และแผ่นป้ายทะเบียนปลอมจำนวนมาก

พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก.กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจทางหลวงตรวจพบการนำรถผิดกฎหมายมาสวมป้ายทะเบียนปลอมวิ่งบนท้องถนนจำนวนมาก อีกทั้งทะเบียนบางหมายเลขยังถูกนำไปสวมรถมากกว่าสิบคัน นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันรถสวมทะเบียนปลอมเหล่านี้มักถูกนำไปใช้กระทำผิดกฎหมายอื่นๆเพิ่มมากขึ้น อาทิ ใช้ขนยาเสพติด ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว อาวุธเถื่อนและของหนีภาษี จึงประสานข้อมูลร่วมกับกรมการขนส่งทางบก จนนำมาสู่การบูรณาการกำลังร่วมกันเปิดปฏิบัติการดังกล่าว

...

“ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากกรณีจับกุมขบวนการส่งออกรถสวมทะเบียนไปประเทศเพื่อนบ้านเครือข่าย “เจ๊มะลิ” ในพื้นที่ อ.เมืองเลย เมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 ก่อนพบข้อมูลเลขทะเบียน ข้อมูลป้ายภาษี ข้อมูลยี่ห้อรถยนต์ ข้อมูลตัวถังรถยนต์กว่า 2,000 รายการ เชื่อว่าเป็นข้อมูลเอกสารที่ปลอมขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อ จากข้อมูลดังกล่าวจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกหมายเลขทะเบียนในฐานข้อมูลกรมการขนส่งฯ แต่ระบุประเภทรถไม่ตรงตามจริง กลุ่มที่สองหมายเลขทะเบียนมีข้อมูลในระบบกรมการขนส่งฯ ระบุข้อมูลตรงกับตัวรถแต่มีหลายคันหรือเรียกว่ารถแฝด และกลุ่มที่สาม ไม่พบข้อมูลในระบบของกรม การขนส่ง หรือเป็นรถติดป้ายทะเบียนว่าง หรือหมายเลขทะเบียนที่ยังไม่ได้เปิดใช้” พล.ต.ต.มนตรี กล่าว

รอง ผบช.ก.กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลรถกว่า 2,000 รายการนี้ พบว่าส่วนใหญ่ยังมีกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทไฟแนนซ์ ประมาณว่าผู้ครอบครองหลังเช่าซื้อรถมาแล้วนำไปจำนำ บางส่วนตั้งใจขาย ขณะที่บางส่วนถูกผู้รับจำนำเชิดหนีแล้วนำไปขาย ซึ่งในส่วนของผู้ซื้อต่อมานั้นบางรายรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถผิดกฎหมายแต่เห็นแก่ราคาถูก หรืออาจตั้งใจนำไปใช้กระทำความผิด แต่ยังมีบางรายที่ไม่รู้ว่าเป็นรถผิดกฎหมายเพราะถูกย้อมแมวขาย เนื่องจากมีการปลอมป้ายทะเบียนและคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ ตำรวจกองปราบฯจึงรวบรวมพยานหลักฐานนำมาสู่การเข้าตรวจค้นเป้าหมายทั้ง 4 จุด จับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 4 คนดังกล่าว สำหรับกลุ่มผู้ต้องหาที่จับมาครั้งนี้เป็นเพียงแค่เครือข่ายเดียว หรือส่วนหนึ่งในฐานข้อมูลที่เราตรวจพบหลังจากนี้จะเร่งขยายผลในส่วนที่เหลือเพิ่มเติม

พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล.กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาตำรวจทางหลวงตรวจยึดรถสวมทะเบียนได้ 67 คัน ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ลักลอบขนยาเสพติด ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว สินค้าหนีภาษีหรือของเถื่อน รวมไปถึงใช้ทำผิดกฎหมายอื่นอีกหลายอย่าง หลังจากนี้ตำรวจทางหลวงจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป

ด้านนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี ขบ.กล่าวว่า ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกที่ผ่านมาประสานข้อมูลร่วมกับตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบทะเบียนรถต่างๆเพื่อป้องกันการกระทำผิด ทำให้ทราบว่ารถคันใดบ้างเป็นรถถูกต้องหรือผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่พบข้อมูลว่ามีรถใช้แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลยเดียวกันถึง 26 คันนั้น จากการตรวจสอบพบเป็นแผ่นป้ายทะเบียนปลอม อีกทั้งหมายเลขทะเบียนดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดใช้ ฝากเตือนไปถึงผู้ซื้อรถว่า อย่าใช้วิธีการซื้อแบบโอนลอย เพราะอาจถูกย้อมแมวขาย รถถูกเปลี่ยนสภาพ ถ้าต้องการความมั่นใจในการซื้อรถ ขอให้มาที่กรมขนส่งทางบกเพื่อตรวจสอบรถที่ต้องการจะซื้อว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

มีรายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนปลอมหมายเลขเดียวกันนั้น พบว่าต่างมาจากคนละสถานที่ แต่เชื่อว่าแต่ละแก๊งน่าจะเชื่อมโยงถึงกัน บางหมายเลขทะเบียนมีรถสวมใช้กว่าสิบคัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีต่อไป

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่