คดี “โกฟุก ระนอง” หรือ นายสง่า กังวาล เลี่ยงภาษีน้ำมัน 1.8 หมื่นล้านบาท!
เป็นคดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องสะสาง มีบริษัทสัญชาติเมียนมา ที่ลักลอบจดทะเบียนบริษัทอย่างไม่ถูกต้องในต่างประเทศ ส่งโกฟุกเป็นตัวแทน
ซื้อขายน้ำมันส่งไปพม่า แล้วนำย้อนกลับมาขายในไทยหวังได้ประโยชน์ยกเว้นภาษี บางกรณีไม่มีการซื้อขายกันจริง ทำให้ประเทศเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท!
กรรมาธิการรัฐสภา รู้เรื่อง แจ้งให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดส่ง อัยการวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน ไปเป็นที่ปรึกษา
อัยการวัชรินทร์ มีดีกรีเป็นรองโฆษก สนง.อสส. ที่ปรึกษาคดีอุ้มลุงเปี๊ยกตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย และเป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีเป้รักผู้การด้วย โปรไฟล์ดีเคยสำเร็จหลักสูตรเอฟบีไอจากสหรัฐฯ
รูปคดีโกฟุกซับซ้อน มีเอกสารเส้นทางเงินทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งบุคคล สิ่งของ สถานที่เกิดเหตุอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคดีอาญามีโทษตามกฎหมายไทยกระทำนอกราชอาณาจักร ที่อัยการสูงสุดต้องเป็นพนักงานสอบสวน แต่จะมอบให้ใครสอบสวนก็ได้ แต่เมื่อสรุปสำนวนแล้ว ต้องส่งกลับมาให้อสส.สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเท่านั้น
คดีจึงเข้มข้น อัยการวัชรินทร์และดีเอสไอเร่งสอบสวนต่อเนื่อง ความผิดโกฟุกต้องใช้กฎหมายถึง 3 ฉบับคือ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ร.บ.สรรพสามิต และประมวลรัษฎากร มาดำเนินคดี
ขณะนี้อัยการกับดีเอสไอเร่งรวบรวมหลักฐาน และต้องจับตัวโกฟุกมาขึ้นศาลให้ได้!
ใครเรียนกฎหมายระดับเนติขึ้นไป ต้องรู้ดีว่าการสอบสวนถ้าบกพร่องในสาระสำคัญ ศาลจะยกฟ้อง
สาระสำคัญที่ต้องจำกันให้แม่นคือ คน ท้อง ชอบ ร้องหา?
...
คน คือ ต้องมีผู้เสียหาย ท้อง คือ พนักงานท้องที่เกิดเหตุมีอำนาจสอบสวน ชอบ คือ เมื่อสอบสวนแล้วต้องสรุปสำนวนโดยพนักงานสอบผู้รับผิดชอบ ร้อง คือ ต้องร้องทุกข์พนักงานสอบสวนอย่างถูกต้อง หา คือ ต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา
อัยการจึงเป็นผู้มีความแม่นยำกฎหมาย มากกว่าตำรวจหรือดีเอสไอ
แผ่นดินนี้ยังรอความยุติธรรมอยู่ อย่าให้พลาด เอาให้แม่นๆ.
สหบาท