ครบฝากขังเด็ก 14 ผู้ต้องหาคดีกราดยิงในห้างสยามพารากอนแล้ว โฆษกกรมพินิจฯแจง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางต้องสั่งปล่อยตัวเพราะฟ้องไม่ทัน แต่ประสานพ่อแม่ผู้ต้องหาแล้วยินดีให้เด็กเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ต่อไป วันที่ 1 ม.ค. กรมพินิจฯ ผู้ปกครอง และแพทย์จะเข้าไปทำแผนประกอบการรักษาอาการป่วย โฆษก อสส.ยัน แพทย์สามารถเอาตัวไว้รักษาอาการต่อได้ตามกฎหมาย เชื่อไม่ปล่อยตัวออกมาแน่ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์พารากอน 2 หรือ 3 ได้

กรณี ด.ช.วัย 14 ก่อเหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 5 คน หลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่งสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ตีกลับสำนวน มีความเห็นว่าตำรวจทำผิดขั้นตอนกฎหมาย ส่งสำนวนสั่งฟ้องโดยไม่มีความเห็นแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ที่กำลังบำบัดรักษาอาการทางจิตของเด็กอยู่ แต่คดีจะครบฝากขังวันที่ 31 ธ.ค. ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 31 ธ.ค. นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฐานะโฆษกกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของศาล วันนี้ทราบว่าครบกำหนดผัดฟ้อง ด.ช.อายุ 14 ปี แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำส่งสำนวนต่ออัยการ ดังนั้นตามกฎหมายต้องปล่อยตัวภายในเที่ยงคืนวันนี้ เพราะหน่วยงานไม่มีอำนาจคุมตัวเด็กไว้ แต่เบื้องต้นกรมพินิจฯประสานกับผู้ปกครองให้เด็กยังคงรักษาตัวต่อในสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าอาการเป็นปกติแล้ว เบื้องต้นทราบว่าผู้ปกครองยินดีให้เด็กรักษาตัวต่อไป ส่วนด้านคดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีกรอบระยะเวลาอยู่แล้ว

...

ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เผยว่า ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวแล้วว่า พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาลได้ทัน จึงใช้วิธีการตาม ป.วิ อาญา งดการสอบสวน ดังนั้นกรมพินิจฯไม่สามารถควบคุมตัวตามกฎหมาย อำนาจการควบคุมตัวครบกำหนดเวลาเที่ยงคืนนี้ อย่างไรก็ตามกรมพินิจฯประสานให้พ่อแม่เด็กไปที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์วันพรุ่งนี้ (1 ม.ค.) เวลา 10.00 น.เพื่อทำแผนประกอบการรักษาอาการป่วยของเด็ก จะมีรองอธิบดีกรมพินิจฯพร้อมด้วยพ่อแม่ และแพทย์

ที่ บก.น.6 พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รอง ผบก.น.6 เผยว่า พนักงานสอบสวนตรวจส่งสำนวนทั้งหมดไปให้อัยการเรียบร้อยแล้ว แต่อัยการคืนสำนวนมา เนื่องจากแพทย์มีความเห็นว่าเด็กอายุ 14 ปียังคงต้องรักษาตัวก่อนไม่สามารถไปต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนจึงส่งหนังสือไปหาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ให้รับตัวไว้รักษาต่อ แต่จะปล่อยหรือไม่ปล่อยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าจะให้เด็กรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หรือให้กลับบ้าน หรือให้ไปรักษาตัวที่อื่นเป็นดุลพินิจของแพทย์

“ส่วนคดีช่วงที่รักษาตัวก็พักคดีไว้ก่อน งดการสอบปากคำ แต่กระบวนการสอบสวนมันเสร็จสิ้นไปแล้ว หากแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวนต้องไปสอบปากคำอีกครั้ง เนื่องจากที่สอบปากคำมาอัยการมองว่าเด็กอายุ 14 ปี ไม่สามารถให้รายละเอียดในวันเกิดเหตุได้ อ้างว่าจำเรื่องราวไม่ได้เลย ส่วนกรณีพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน จะต้องนำส่งสำนวนสั่งฟ้องต่ออัยการให้ทันก่อนศาลปิดทำการ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำส่งสำนวนต่ออัยการไม่ทันภายในเวลา 16.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะต้องออกหมายปล่อยตัวชั่วคราวนั้น สำนวนดังกล่าวคือสำนวนเดียวกับที่ถูกอัยการส่งกลับมาตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. ทั้งนี้ จะปล่อยตัวเย็นนี้หรือไม่ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์” รอง ผบก.น.6 กล่าว

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษก อสส. เผยว่า มีปัญหาว่าสุดท้ายต้องปล่อยตัวเด็กอายุ 14 ไปหรือไม่ เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 14 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งงดการสอบสวนแล้วส่งให้แพทย์ตรวจจิตว่าป่วยหรือไม่ ถ้าป่วยก็งดการสอบสวน 2.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชนปี 53 ให้อำนาจสถานพินิจควบคุมตัวไว้ 30 วัน และขอขยาย ได้อีกไม่เกิน 60 วัน เมื่อครบแล้วต้องปล่อย หมายถึงต้องปล่อยตัวในวันนี้คือ วันที่ควบคุมมา 91 วันแล้ว และ 3.พ.ร.บ.สุขภาพจิต ปี 2551 ม.22 มีหลักว่า ถ้าหมอยังเห็นว่าเด็กป่วยต้องเอาตัวไปรักษาเพื่อไม่ให้เด็กกลับไปก่อเหตุอันตราย ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่เด็กก่อน ถ้าพ่อแม่ไม่ยินยอมต้องใช้มาตรา 36 ให้อำนาจหมอรับตัวไปควบคุมเพืี่อรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ ตนพอทราบแนวโน้มมาว่าสถาบันกัลยาณ์จะขอควบคุมเด็กต่อไปด้วยเหตุผลดังนี้

“1.เอาตัวไปรักษาจนกว่าจะหายป่วย ต้องใช้ระยะเวลา 2.ค้นหาสาเหตุของการก่อเหตุเรียกว่า กระบวนการนิติเวชเพื่อค้นหาปัจจัยที่นำไปสู่สาเหตุ 3.ค้นหาปัจจัยคือ 3.1 ปัจจัยนำคือ การค้นหาต้นเหตุที่นำไปสู่การก่อเหตุ 3.2.แรงกระตุ้น เช่น การคบเพื่อน การให้ความสนใจเรื่องการมีและใช้อาวุธปืน 3.3.ปัจจัยที่ดำรงอยู่ว่าเด็กคนนี้คบหากับเพื่อนที่มีพฤติกรรมก่อเหตุอันตรายหรือไม่ 3.4.ค้นหาเหตุจูงใจในการก่อเหตุ เราเรียกว่าการใช้หลักนิติเวชควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาล ดังนั้นคาดว่ายังปล่อยตัวไปไม่ได้เพราะยังไม่รู้สาเหตุ ไม่เช่นนั้นอาจมีเหตุพารากอน 2 หรือ 3 อีกก็ได้ มีแนวโน้มว่าแพทย์จะไม่ปล่อยจนกว่าจะค้นหาสาเหตุ วันพรุ่งนี้ 1 ม.ค. ทางสถาบันกัลยาณ์ สถานพินิจฯ และผู้ปกครองเด็กจะพบกันที่สถาบันกัลยาณ์” นายประยุทธกล่าว

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่