ความรุนแรงในครอบครัวสะเทือนขวัญ “พ่ออํามหิตลงมือทารุณกรรมลูกในไส้เสียชีวิต 5 ศพ และรอดตายเป็นคนพิการ 2 คน” สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอการคุ้มครองเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประกาศบังคับใช้มานานกว่า 20 ปี แต่ยังปรากฏพบเด็กตกเป็นเหยื่อถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แล้วก็เชื่อว่า “ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ” ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งกายและจิตใจในครอบครัวที่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยต่างรอคอยการแก้ไขป้องกันอยู่นี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว บอกว่า

แม้ว่าประเทศไทยมี “พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ” ในการคุ้มครองเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ การสงเคราะห์ การคุ้มครองสวัสดิภาพ การพัฒนาฟื้นฟู และคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันยังมีเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวต่อเนื่อง มีทั้งค้นพบช่วยเหลือทัน และค้นไม่พบถูกซุกซ่อนกระจัดกระจายอีกมาก

โดยเฉพาะ ม.29 ระบุให้ผู้ใดเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพเลี้ยงดูไม่เหมาะสมต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กตาม ม.24 นั้นก็แปลว่า “คนไทยถูกบังคับตามกฎหมายเมื่อเห็นเด็กถูกทำร้ายต้องรายงานภาครัฐ” แต่ว่าผ่านมา 20 ปี ประชาชนยังรู้สึกเฉยชาไม่อยากยุ่งครอบครัวคนอื่น ส่งผลให้ความรุนแรงในเด็กยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

...

อย่างกรณี “พ่อทำร้ายลูกเสียชีวิต 5 ศพ และทารุณกรรมอีก 2 คน” จนพี่สาวคนโตวัย 12 ปี ทนถูกทำร้ายไม่ไหวหนีออกมาขอให้ชาวบ้านช่วยเหลือ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า “สังคมไม่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองเด็ก” เพราะถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้มแข็งจริงคงไม่มีเด็กตาย และไม่มีเด็กต้องกลายเป็นคนพิการ

จริงๆแล้วถ้าสังเกตเด็กอายุ 12 ปี เคยเข้ารักษาอาการบาดเจ็บกลับไม่ได้วินิจฉัยจากลักษณะแผลถูกกระทำด้วยความรุนแรง แม้แต่เคยเข้าเรียนระบบ กศน.หรือเคยร่วมกิจกรรมชุมชนอยู่เย็น ก็ไม่มีใครสนใจในความผิดปกติตั้งแต่รอยช้ำ รอยถลอก บาดแผลตามร่างกาย หรืออาการหวาดกลัว หวาดระแวงของเด็กเลยด้วยซ้ำ

สิ่งนี้ล้วน “บ่งบอกความผิดปกติอันเกิดจากการถูกทารุณกรรม” แต่กลับไม่มีใครทำหน้าที่ตาม ม.29 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เช่นนี้สังคมควรต้องทบทวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เด็กเสียชีวิต 5 ศพ และบาดเจ็บหรือไม่

ตอกย้ำด้วย “ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาไม่อาจแก้ได้ถาวร” ทำให้ปรากฏพบเด็กถูกทำร้ายอยู่เป็นประจำแล้วกรณีคดีพ่อฆ่าลูก 5 ศพ อาจเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมเท่านั้น ตราบใดที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติคำว่า “เป็นเรื่องในครอบครัวเขา” เหตุการทำร้ายเด็กก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ข้อสังเกตได้จากญาติเด็กที่เสียชีวิตต่างสงสัยว่า “เด็กหายไป” แล้วสอบถามพ่อเด็กเป็นระยะแต่ผู้ก่อเหตุไม่ตอบทำให้ไม่ตามต่อ เพราะคำว่า “ลูกของเขาเลยไม่อยากยุ่ง” สุดท้ายเกิดเหตุสะเทือนใจคนทั้งประเทศ แล้วเรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแน่ๆ เพราะกลไกการคุ้มครองเด็กไม่อาจขับเคลื่อนป้องกันรับมือปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ประเด็นหนักกว่านั้นคือ “เด็กรอดชีวิตที่เป็นความโชคดีในความโชคร้าย” โดยเฉพาะเด็ก 4 ขวบ ถูกทรมานจนตาบอด ปากแหว่ง จมูกขาด ส่วนพี่สาววัย 12 ปี กำลังเข้าสู่วัยรุ่นเป็นช่วงวัยเปลี่ยนแปลงทางเพศ ร่างกาย ความคิด และอีกไม่นานย่อม “สร้างครอบครัว” แต่เมื่อเขาต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายนี้จะสามารถดูแลลูกได้หรือไม่

“อย่าลืมเขารับรู้เห็นพ่อแม่ฆ่าน้องตาย 5 คนจนเกิดแผลฝังลึกในใจ กลายเป็นเรื่องหนักกว่าคนเสียชีวิตด้วยซ้ำ เช่นนี้หน่วยงานรัฐต้องช่วยกันฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพราะเด็กตกอยู่ในครอบครัวแตกแยกได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมมานานที่เรียกว่าเด็กมีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ หรืออยู่ในภาวะปริแยกแตกร้าว” รศ.นพ.อดิศักดิ์ว่า

...

ตามหลักวิชาการ “เด็กอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะปริแยกแตกร้าว” มักแบ่งออกเป็น 5 ด้านคือ ครอบครัวมีภาวะแตกแยก ตีกัน ติดคุก ติดยา สภาพจิตไม่ปกติ สัมผัสกับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม 5 ด้าน ตั้งแต่การละเลยทางกาย ละเลยทางอารมณ์ ทำร้ายทางกาย ทำร้ายทางอารมณ์ และทำร้ายทางเพศ

กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง “มีความเสี่ยงต่อกระทำความรุนแรงในครอบครัวซ้ำ” ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมเมื่อเข้าสู่ “วัยเรียน” มักไม่ประสบความสำเร็จทางการเรียนเข้าสู่ “วัยรุ่น” จะมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนเข้า “วัยกลางคน” ก็กลายเป็นบุคคลล้มเหลวในการทำงาน

ยิ่งถ้าหากว่า “สร้างครอบครัว” อาจต้องเผชิญการก่อความรุนแรงในครอบครัวที่เรียกได้ว่า “ข้ามภพข้ามชาติ” เพราะหากสืบย้อนหลังพ่อผู้ก่อเหตุฆ่าลูกก็น่าจะเคยถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงมาตั้งแต่เด็กด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า “เด็กกลุ่มนี้มักเสียชีวิตในช่วงวัยกลางคน” ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง ถูกกระทำจากความรุนแรงหรือเกิดอุบัติเหตุ ทั้งยังอยู่ในกลุ่มประเภท “โรคไม่ติดต่อสูง” ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตก เพราะในวัยเด็กต้องเผชิญความกดดันจากความรุนแรงเป็นเวลานาน

...

ตามที่เคยศึกษาวิจัย “เด็กอยู่ในครอบครัวใช้ความรุนแรง” มักปรากฏฮอร์โมนความเครียดสูงกว่าเด็กปกติที่เรียกว่า “ความเครียดเป็นพิษค้างยาวนาน” เว้นแต่ค้นพบแล้วแยกเด็กออกจากความรุนแรงนั้นได้เร็ว

ทว่าในช่วงโควิด “ม.มหิดล” ได้สำรวจในชุมชนแออัดเขต กทม.เพราะเป็นช่วงปิดโรงเรียน “เด็ก” ต้องอยู่กับครอบครัวมากกว่า 8 ชม./วัน ทำการคัดกรองเด็กอยู่ในภาวะครอบครัวบกพร่อง 54% เลี้ยงดูไม่เหมาะสม 28% ด้วยเวลาเกิดภัยพิบัตินั้น “ผู้ปกครอง” มักเผชิญปัญหาความยากจน และเกิดความเครียดสูงมาลงกับเด็กได้เสมอ

ดังนั้นการค้นหา “ครอบครัวถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสมได้เร็ว” จะเป็นเหมือนการปักหมุดเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับครอบครัว และเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เพื่อการฟื้นฟูเด็กจากภาวะปริแยกแตกร้าว ทั้งทำการเฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครองเด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกไปจนถึงประถมศึกษาอายุ 6-8 ปี

อย่างกรณี “พ่อทำร้ายลูก 5 ศพ” หากชุมชนพบเห็นความผิดปกติเร็วแล้วรายงานต่อ พม.1300 เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ประเมินทันที หากเลี้ยงดูไม่เหมาะสมไม่ปลอดภัยจะทำการแยกเด็กออกจากครอบครัวก่อน และค่อยเรียกพ่อแม่มาพูดคุยจนกว่าจะปรับวิธีการเลี้ยงใหม่ได้ แล้วต้องทำสัญญาก่อนการรับลูกกลับไปได้ด้วย

...

ย้อนกลับมาหลักการสำหรับ “การฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก 2 คน” เท่าที่ดูเบื้องต้นสภาพภายนอกค่อนข้างดี แต่ไม่รู้บาดแผลภายในความทรงจำอันเป็นตัวหล่อหลอมทัศนคติมีมากเพียงใด ดังนั้นตอนนี้ต้องสร้างสิ่งดีๆเข้าไปแทรกให้เด็กรู้สึก “อบอุ่นและปลอดภัย” เพื่อสลายทัศนคติเดิมที่ถูกกระทำมานั้น

ด้วยเพราะ “สมองมนุษย์มักมี Neuroplasticity” สามารถฟื้นตัวปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังอาการบาดเจ็บ แต่แน่นอนตามคำโบราณว่า “ไม้แก่ดัดยากไม้อ่อนดัดง่าย” ก็แปลว่าสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก 2 คนได้เพียงแต่อาจใช้เวลาในการปรับทัศนคติเก่าๆ ส่วนจะได้ผลระดับใดคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หากปรับทัศนคติได้ค่อยเสริมความรู้ ความสามารถ ทักษะ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้

เรื่องนี้คงต้องฝากความหวังกับ “หน่วยงานรัฐปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ” ที่ระบุให้คุ้มครองเด็กจนอายุ 18 ปี ถ้าเด็กต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้จำเป็นต้องลงทุนส่งเสริมเด็กต่อไป ยกเว้นเด็กประสงค์สมัครใจออกจากการคุ้มครองไปใช้ชีวิตเองที่จำเป็นต้องประเมินความพร้อมด้วย

อย่างไรก็ดีมีอีกทางเลือก “ม.มหดิล ร่วมกับบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพฯ” จัดโครงการสำหรับเด็กถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสมแล้วแยกออกมาอยู่บ้านพักเด็กกรุงเทพฯ ถ้าอายุไม่เกิน 6 ขวบ จะนำไปเรียนร่วมเด็กอนุบาลสาธิตมหิดล เพื่อปรับวิถีชีวิตได้รับดูแลตั้งแต่ครูพี่เลี้ยง กุมารแพทย์ และเพื่อน แม้เด็กพิการก็สามารถเรียนได้

นี่คือ “ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” สำหรับการเสียชีวิตของเด็ก 5 คนนี้คงกระตุ้นให้สังคมต้องเรียนรู้ทำให้เคยชิน หากพบเห็นเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมหรือเห็นบาดแผลผิดปกติ ไม่ใช่นิ่งเฉยแต่ต้องโทร.แจ้งสายด่วน 1300 ให้ได้รับการช่วยเหลือก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม